Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้
Featured

ความสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี


ท่านอาจารย์มั่นท่านทำหน้าที่ของท่านอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเรื่องพิธีรีตองจึงไม่ค่อยมีเวลา มีลูกศิษย์ลูกหาไปลาท่านออกไปเที่ยว บางองค์ท่านบอกว่า “ไปทำเถอะทำอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้ปฏิบัติตัวเองให้ดี นั่นแลคือเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธเจ้า ระลึกถึงท่านด้วยการระมัดระวังตัวให้ดี นั่นแลคือการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านปฏิบัติดีอย่างไร เราปฏิบัติดีอย่างนั้น นั่นแลคือการบูชาพระสงฆ์”  

อยู่ที่ไหน ให้ถือความสำคัญในความเพียรอยู่เสมอ อย่าให้เสียเวล่ำเวลา อย่าให้เป็น “โมฆภิกษุ” ท่านว่า”

การขาด “สติ” เพียงอย่างเดียว เป็นเหตุให้ขาดหลายๆ อย่าง ถ้ามี “สติ” และ “ปัญญา” อยู่ในตัว อยู่ไหนก็เป็นความเพียร”

คำว่า “สติ กับ ปัญญา” ในที่นี้ ท่านหมายถึง สติปัญญา เพื่อระงับดับกิเลสล้วนๆ ท่านไม่ได้หมายออกไปทางโลก ท่านจึงพูดอย่างนั้น บรรดาท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เข้าใจกันทันทีโดยไม่ต้องอธิบาย

เวลาท่านแสดงธรรมในวันสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา ท่านยกเอาพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ขึ้นมาแสดงว่า “ท่านเหล่านี้ เป็นพระอรหันต์ล้วนๆ ทำ “วิสุทธิอุโบสถ” คือ อุโบสถในท่ามกลางแห่งท่านผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ ด้วยกัน แต่พวกเรานี้มีแต่คนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบล้วนๆ อยู่ด้วยกัน ในวันทำ “วิสุทธิอุโบสถ” ของพระพุทธเจ้า คือ วันมาฆบูชา พวกเราไม่คิดละอายตัวบ้างหรือ ถ้าละอายก็ให้ทำความรู้สึกตัว อย่าประมาท อย่านอนใจ สติปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ

เครื่องประกอบความเพียร มีสติปัญญาเป็นสำคัญ อยู่ที่ไหนอย่าให้เผลอสติ ให้มีปัญญาเสมอ อย่าสะทกสะท้าน อย่าหวั่นไหว อย่ากลัวว่าจะไม่ได้ไม่ถึง นอกไปจากกลัวจะเผลอสติ กลัวจะไม่มีปัญญา นี่แหละคือเครื่องมือขุดค้นธรรม เพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกให้หมด”

ท่านเทศน์ในวัน “มาฆบูชา” ท่านเทศน์อย่างนั้น ท่านเล่าว่า ควรมี “ดี” มาอวดมาแข่งกันบ้างดีกว่า คนอวดดี แข่งดีกัน ทั้งๆ ที่อวดชั่ว และแข่งชั่วกัน บางรายอวดดีแข่งดีแต่ปากไม่พอ ต้องอวดด้วยฝีมือ ถึงกับฆ่ากันตายก็มี การอวดกิเลสกันมันให้ผลผิดอย่างนี้แล จึงต้องฟังและจดจำให้ถึงใจ”   

ท่านลงอุโบสถ มีแต่พระอรหันต์ล้วนๆ ๑,๒๕๐ องค์ เราอยู่ด้วยกันนี้มีใครเป็นพระอรหันต์บ้างไหม? เห็นมีแต่ “กองกิเลส” เต็มศาลา จนมองหา “องค์พระ” ไม่เจอ เพราะกิเลสปิดบังเสียจนมิด” ท่านว่าอย่างนั้น ฟังแล้วก็น่าอับอายตัวเอง แต่จำต้องทนเอา จะทำอย่างไรได้ เพราะพวกเรามันมีอย่างท่านว่าจริงๆ

ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ มาเห็นกองกิเลสเต็มศาลาอย่างพวกเรานี้ จะเป็นยังไง” ท่านพูดมีเรื่องขบขัน “และ ถ้าพระอรหันต์บังเอิญเดินมาที่นี่ มาเห็นกองกิเลสเต็มศาลานี้ท่านจะว่ายังไง ท่านต้องเบื่อ ท่านต้องเอือมระอา ท่านต้องขยะแขยงอย่างบอกไม่ถูก และเข็ดหลาบเต็มประดานั่นแล ท่านไม่กลับมาอีกแล้ว แต่พวกเรากอดกันอยู่กับกิเลส นอนจมอยู่กับกิเลส ไม่เห็นมีความสะดุดใจอะไรเลย ไม่มีความขยะแขยง นับว่าเก่งจริงพวกเรา

นั่นแน่ะ! ฟังดูซิ พวกเราเก่งในของไม่เป็นท่า กล้าในของไม่ดี ท่านว่า เวลาท่านอาจารย์มั่นท่านเทศน์ อยากให้บรรดาเราทั้งหลายได้ยินได้ฟังโอวาทของท่านบ้าง อุ๊ย แหลมคมอย่างบอกไม่ถูก พูดแล้วกระเทือนถึงจิต กระเทือนถึงจิตก็คือกระเทือนตัวกิเลสนั่นเอง ทำให้สะดุดใจ สลดสังเวช บางครั้งจนน้ำตาร่วงในขณะฟังท่าน เพราะมันถึงใจขนาดนั้น ท่านเทศน์ด้วยอรรถด้วยธรรมจริงๆ ท่านไม่มี “โลก” เข้ามาแฝงเลย แม้จะพูดเด็ดเดี่ยว ดุด่าขนาดไหนก็ตาม มีแต่เรื่อง “ขับไล่กิเลสออกจากใจ” ทั้งนั้น ท่านไม่นำโลก คือ กิเลสมาใช้ในวงแห่งการแสดงธรรมนั้นเลย ฟังแล้วจึงอัศจรรย์ธรรมท่านอย่างบอกไม่ถูก ใจสะอึกสะอื้นอยู่ในหัวอก ชนิดพูดไม่ออก บอกใครไม่ถูกอีกเช่นเดียวกัน

แสดงทีแรก ก็เสียงแผ่วเบา แล้วค่อยเร่งขึ้น เร่งขึ้น เนื้ออรรถเนื้อธรรมก็เข้มข้นขึ้นโดยลำดับๆ นั่นแหละทีนี้มีแต่ “ธรรมล้วนๆ” แสดงออกบทใดบาทใด ประโยคใด มีแต่เหตุแต่ผล มีแต่คติที่จะควรยึดได้ทั้งสิ้น เพราะมีแต่เนื้อ ๆ ซึ้ง ๆ ทั้งมวล ท่านว่า “พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ท่านมาเอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเชื้อเชิญมา และเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ล้วนๆ ที่พระองค์ทรงบวชเอง” ท่านพูดเท่านี้ แล้วท่านก็ย้อนเข้ามาอีกหลายชั้น คนฉลาดนี่ เทศน์และพูดมีหลายสันพันนัย แห่งการแสดงคลี่คลายธรรมทั้งหลายลึกตื้น หยาบละเอียด รื้อฟื้นขึ้นมาให้พวกเรา ซึ่งกำลังตาบอด ลูบคลำไปตามแบบล้มลุกคลุกคลาน ที่น่าเอ็นดู ขณะที่นั่งฟังท่าน ท่านว่า “พระอรหันต์เหล่านั้น ท่านเป็น เอหิภิกขุ”

ท่านเป็นเอหิภิกขุ” ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง พวกเราจะโอนเป็น “เอหิภิกขุ ในเรา” ทำไมจะทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด บวชตัวเองเข้าที่นี่ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา เข้าที่นี่ “เอหิๆ” นะ ท้าทายอยู่ ท่านจงดูที่นี่ๆ เรื่องสัจธรรมไม่อยู่ที่ไหน นอกจากในตัวของเราเอง ทุกข์กองอยู่ในตัวของเราทั้งหลายเอง สมุทัยก็คือกองกิเลส ตัวเราทั้งหมดก็คือกองกิเลส เต็มอยู่นี่จนน่ากลัว เมื่อไรจะผลิต “สติปัญญา” “ศรัทธา ความเพียร” ขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส อันเป็นกองภัยที่น่ากลัวนี้บ้างให้ระงับดับไป แล้วจะได้ดับกลิ่นเหม็นของกิเลสเสียบ้าง” นั่นฟังดูซี

นี่แหละ เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ละ บวชตัวเองนี้เป็นความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกอรหันต์ก็ดี ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เป็น เอหิภิกขุ ก็ดี ก็เป็นการประกาศให้ทราบว่า ตัวเป็นนักบวชซึ่งมีเพศต่างจากฆราวาสแล้ว แต่กิเลสนั้นยังไม่หลุดลอยไปสักตัว เพราะการบวชนั้นๆ เช่นเดียวกัน” ท่านว่ายังงั้น

อยากจะให้กิเลสหลุดลอยไป ต้องบวชตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชพระองค์เอง พระสาวกทั้งหลายก็บวชตัวเอง หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ด้วย “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” แล้ว “นั่น ท่านย้อนเข้ามาน่าฟังไหม?” ส่วนพวกเราชอบแต่กล้วยกัน ไม่สนใจบวชตัวเอง โดยเป็นอุปัชฌาย์ตัวเอง

ใครที่ยังไม่บวชตัวเองเสียก่อน ผ่านพ้นไปไม่ได้ “เอหิๆ” นี่น่ะแปลว่า ท่านจงมา ท่านจงเป็นภิกขุเถิด” ว่ายังงั้นแหละ ท่านจงดูที่นี่นะ ที่นี่นะ ท่านจงดูที่นี่นะ ธรรมของจริงประกาศท้าทายอยู่ทั้งวันทั้งคืน ด้วยความจริง ไม่ครั่นคร้ามต่อสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะเป็นความจริง ดูเมื่อใดก็เห็น พิจารณาเมื่อใดก็รู้ ถ้าจะพิจารณา “นี่ท่านพูดน่าฟัง ความจริงก็อย่างท่านว่า

ต้องมาบวชตัวเอง เป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวช หรือ ฆราวาส ต้องบวชตัวเองทั้งนั้น บทสุดท้ายต้องบวชตัวเอง! ตัดสิ่งที่เกี่ยวข้องภายในตัวเองให้หมดไปโดยลำดับๆ ก็กลายเป็น “พระ” ขึ้นมา! เป็นพระโสดา เป็นพระสกิทา เป็นพระอนาคา เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แน่ะ จากการบวชตัวเองด้วยปฏิปทาข้อปฏิบัติ หรือเรียกว่า “ด้วยมรรคแปด” ให้เป็นพระขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนการบวชกับพระพุทธเจ้า หรือ อุปัชฌาย์นั้นๆ เป็นเครื่องประกาศให้โลกทราบ และเป็นเครื่องเตือนให้ตัวเองให้ทราบว่าได้บวชแล้ว เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตนให้เต็มภูมิ ปล่อยภาระอะไรทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่กิจสมณะ

บวชแล้วอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ผิดอะไรกับหมู” แน่ะฟังซิ “ผ้าเหลืองอยู่ที่ไหน ก็ไม่อด! อยู่ในตลาด ห้างร้านต่างๆ เต็มไปหมด ไม่อดไม่อั้น ถ้าจะวิเศษด้วยผ้าเหลืองจริงๆ แล้ว ร้านเจ๊กที่มีผ้าเหลืองก็วิเศษไปหมด พวกนั้นจะไม่มีกิเลสกันเลย แต่แล้วก็เป็นคนที่มีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น นั่นจึงเป็นเพียงเครื่องประกาศเตือนตนให้ทราบว่าเป็น “นักบวชเท่านั้น” ท่านว่า” น่าฟังมาก หาฟังได้ยาก

ต้องบวชตัวเองและละเว้น คำว่า ละเว้น” นั้นละเว้นอะไร? เว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อเพศและจิตใจเรานั้นแล มีอารมณ์เป็นข้าศึกสำคัญ คำว่า “สมุทัย” ถ้าไม่ใช่อารมณ์ทางใจที่แสดงออกมา จะเป็นอะไร ตัว สมุทัยแท้” ก็คือตัว “อวิชชา” กิริยาที่แสดงออกมา ก็ออกมาโดยทางอารมณ์ ทำให้ผูกพันรักใคร่ ชอบใจ เกลียด โกรธ อะไรเหล่านี้เป็นอารมณ์ทั้งสิ้น นี่แหละท่านเรียกว่า “สมุทัย” แดนที่เกิดแห่งทุกข์ หรือ แดนผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ใจ ไม่มีอันใดเป็นเครื่องผลิตทุกข์ให้แก่สัตว์โลกได้ นอกจาก “สมุทัย” คือ กิเลสเท่านั้น

แล้วจะดับ “สมุทัย” นี้ด้วยอะไร? ก็ด้วย “มรรค” คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น นั้นแล ที่เคยปราบปรามกิเลสมาแล้วในวงนักปราชญ์ จนโลกธาตุสะเทือนหวั่นไหว เครื่องมืออันนี้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา กิเลสหมอบราบและกลัวมาตลอดกาล แล้วยังจะเกรงกลัวต่อไปอีกไม่มีกำหนด ถ้าผู้ต้องการฆ่ากิเลสนำมาใช้ให้ถูกหลัก มัชฌิมาธรรม” กิเลสทุกประเภทจะสิ้น หรือจะตาย เพราะเครื่องมืออันนี้ไม่สงสัย ถ้าผู้นำมาใช้ให้เหมาะสมกับการแก้กิเลสประเภทต่างๆ

ทุกข์ทางกายก็ประกาศกังวานอยู่ทั่วทั้งกาย ทางใจก็รอบใจ เพราะ สมุทัยมีอยู่ภายในใจ เมื่อแสดงผลออกมา ต้องร้อนที่ใจ ถ้าแสดงเหตุมาก ผล คือ ความทุกข์ก็มากภายในใจ ใจทั้งดวงก็กลายเป็นไฟไปได้ไม่สงสัย

มรรค มีสัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุด เป็นเครื่องดับไฟคือทุกข์ ด้วยความรู้เท่าทัน ด้วยการบังคับ ด้วยการค้นคว้า เพื่อเห็นเหตุเห็นผลแล้วปล่อยวางกันได้ นี่ท่านเรียกว่า “มรรค”  เรียกว่า “ทางเดิน” ก็ได้ เรียก “เครื่องแก้กิเลสทุกประเภท” ก็ถูก

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เมื่อดับกิเลสไปแล้ว ทุกข์ก็ต้องดับ เพราะเป็นตัวผล ไม่ใช่ “นิโรธ” จะต้องทำหน้าที่ของตัวตามลำพัง โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ “มรรค”

แม้ว่าผลที่สืบเนื่องไปจาก มรรค” ที่ทำหน้าที่แก้กิเลสให้หมดสิ้นไปก็จริง แต่ “นิโรธ” จะปรากฏมากน้อย เพราะอำนาจเหตุ คือ “มรรค” ผู้ทำหน้าที่บุกเบิกเป็นสำคัญ เมื่อ “มรรค” ทำหน้าที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ทุกข์ที่จะเกิดเพราะกิเลสก็ไม่มี แม้ทุกข์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วก็ดับไป เพราะไม่มีเครื่องสืบต่อ หรือไม่มีเครื่องสนับสนุน

ธรรมทั้งสี่อย่างนี้ เป็นอาการเท่านั้น ทำหน้าที่อันหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกันไป อย่าเข้าใจว่า พอกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ถึงจะดับไป “สมุทัย” แล้วจึงไปบำเพ็ญ “มรรค” ให้เกิดขึ้น เพื่อ “นิโรธ” จะได้ดับทุกข์ ไม่ได้!

สัจธรรมทั้งสี่นี้ ทำงานเกี่ยวโยงเป็นลำดับกันไป ไม่มีการแยกย้ายกัน ถ้าคิดอย่างนั้น ผิดความจริงทางสัจธรรม หาทางไปไม่ได้เลย เพราะเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกัน การกำหนดรู้ทุกข์ ก็กำหนด เพื่อจะให้ทราบถึงสาเหตุของทุกข์ คือ สมุทัย นั่นเอง การทราบสาเหตุของทุกข์ คือ ตัวสมุทัยนั้น ถ้าไม่ทราบด้วยสติปัญญา จะทราบด้วยอะไร ต้องทราบ และ ถอดถอน สมุทัย ด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ แล้วเมื่อทราบ เมื่อระงับ เมื่อแก้ไขถอดถอนสมุทัยได้มากน้อยเพียงไร คำว่า “ความดับทุกข์” ที่เรียกว่า “ดับทุกข์” ด้วย “นิโรธ” ๆ นั้น ก็เป็นไปในขณะเดียวกันนั้นโดยลำดับ ตั้งแต่ต้นจนอวสานสุดท้าย

ทุกข์จะดับไปโดยลำดับๆ ทีละเล็กละน้อย ตามอำนาจของ มรรค ที่ทำหน้าที่ได้ผลมากน้อยเพียงไร ก็เป็น “นิโรธ” ออกมาตามนั้น เมื่อ มรรค มีกำลังเต็มที่ ตัดกิเลสขาด โดยไม่มีอะไรเหลือแล้ว ทุกข์ก็ดับพร้อมในขณะนั้น ไม่มีทุกข์ใดที่จะปรากฏอยู่ภายในจิตใจ เรื่องก็มีเท่านั้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่นอกเหนือไปจากเบญจขันธ์ อันเป็น รวงรังแห่งสัจธรรม” นี้เลย ผู้ปฏิบัติจึงควรค้นคว้าอยู่ที่ตรงนี้ หากจะพิจารณาในธาตุใดขันธ์ใด ก็ให้พึงน้อมเข้ามา เพื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่ตนยึดตนถือว่า เป็นตน เป็นของตน” อันเป็นส่วนสำคัญนี้ เพื่อจะได้ปล่อยวางลงไป ด้วยการเทียบเคียงกับสิ่งภายนอก ถ้าจะพอเข้าใจได้ในการพิจารณาตนเองโดยลำพัง ก็ให้เข้าใจ หากยังไม่เข้าใจ จำต้องอาศัยสิ่งภายนอกเป็นเครื่องสนับสนุน หรือ เป็นข้อเทียบเคียงเพื่อแก้ภายใน ก็ทำการพิจารณาภายนอก ย่อมเป็นมรรค คือเป็นสติปัญญาได้ ถ้าพิจารณาภายในให้เป็นสติปัญญา หรือให้เป็นมรรค ก็เป็นมรรคได้ พิจารณาภายใน ก็เป็นมรรคได้ ทั้งข้างนอกข้างใน จะทำให้เป็น สมุทัย หรือ ให้เป็น มรรค ก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการคิดปรุงของจิต ที่มีแง่ต่างกันไปในทางถูก หรือทางผิด

การพิจารณากาย อย่าได้คาดได้หมายว่าท่านผู้นั้นเห็นกายเห็นอย่างนั้น เราก็อยากจะเห็นอย่างนั้นตาม อย่างนี้เป็นต้น ผิดวิสัยของตน หรือ ขัดต่อจริตนิสัยของตน กายนั้น เรียกว่า “กาย” เหมือนกัน ความเข้าใจตามจริตนิสัย ความรู้ ความเห็นตามจริตนิสัย จะรู้อย่างไรก็ตาม ก็คือ รู้กาย รู้สัจธรรม ทั้งนั้น หลักใหญ่อยู่ที่ตรงนี้

กำหนดพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ รู้หลายครั้งหลายหน ก็เข้าใจไปเอง และ ปล่อยวางไปเอง การเที่ยวกรรมฐานน่ะให้เที่ยวตรงนี้ “การเที่ยวกรรมฐาน” จะต้องหมายถึงเที่ยวตรงนี้เป็นสำคัญ และ ถูกกับจุดมุ่งหมายของธรรม จะไปเที่ยวกรรมฐานในป่านั้น เขานี้ ก็เพื่อจะพิจารณากรรมฐานนี้ให้เข้าใจนั่นเอง ทั้งภายในภายนอก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน

เพื่อความสะดวกในการภาวนา เพื่อให้รู้ “กัมมัฏฐาน หรือ กรรมฐาน” “ห้า” คำว่า “ฐาน” แปลว่าที่ตั้ง ที่ตั้งแห่งงานอันเป็นงานสำคัญก็มีอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ หรือ ในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ อยู่ในป่า ก็ต้องพิจารณาที่นี้ อยู่ในเขา ในที่ไหนๆ ก็ต้องพิจารณานี้ เพราะติดหลงที่นี่ นี่เป็นเครื่องปิดบังจิตใจ ไม่มีความสว่างกระจ่างแจ้งตามความเป็นจริง ไม่เห็นอรรถเห็นธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่รอบตัว จึงต้องอาศัยพิจารณาสิ่งเหล่านี้

การที่จิตมืดดำ ก็เพราะสิ่งมืดดำปกปิด จิตแท้มิได้มืดดำ เป็นธรรมชาติสว่างไสวมาก ผิดกับอะไรทั้งสิ้น “กาย เวทนา จิต ธรรม” หรือ “อริยสัจ” เป็นหินลับปัญญาก็ได้ คือคิดให้เป็นประโยชน์ก็ได้ คิดให้เป็นโทษก็ได้ ตามแต่การคิดปรุงของจิต จะคิดไปในแง่ “ถูกธรรม” หรือ “ผิดธรรม”

คือ “กาย เวทนา จิต ธรรม” นี้ คิดให้เป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาก็ได้ คิดเพื่อแก้กิเลสก็ได้ เพราะทุกขสัจภายในกายภายในจิตเตือนเราอยู่ทุกวัน เพราะมันขึ้นเวทีก่อนเรา และคอยเราอยู่บนเวทีทุกระยะอยู่แล้ว ท้าทายเราอยู่ตลอดเวลาด้วยความจริง  เราจะต้องฟิตตัวให้พอกับกำลังของข้าศึก ถ้ากำลังไม่พอก็แพ้ เวลานี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สงคราม คือ “สงคราม ชรา โรคา พยาธิ มรณะ” นี่เป็นสงครามล้างโลก ถ้าชนะแล้วก็ล้างโลก แน่ะ! ถ้าแพ้ก็จมอยู่ในโลก และเสวยผล ทนทุกข์ทรมานตนอยู่ในโลกต่อไป ท่านจึงสอนให้ยึดกรรมฐานเป็นหลักชัยในการรบ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ สมกับงานอันใหญ่โต คืองานรื้อถอน กิเลส อาสวะ งานรื้อภพ รื้อชาติ รื้อวัฎสงสาร ออกจากใจ

สัจธรรมทั้งสอง คือ ทุกข์ กับ สมุทัย ไม่เคยลงจากเวที เว้นแต่จะตายเสียเท่านั้นนอกนั้น เขาอยู่บนเวที คือ ร่างกาย และ จิตใจของเรานี้ตลอดเวลา สติปัญญา ซึ่งเป็นสัจธรรมฝ่ายปราบปราม จงสร้างขึ้นมาให้ทันกันกับสิ่งเหล่านี้ ให้ได้รู้เท่าทันกันกับความจริงมีอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนั้น ระวังตัวเราอย่าให้มีความรู้นอกเหนือไปกว่าพระพุทธเจ้า อย่าปีนเกลียวกับธรรมของพระองค์ จะมีแต่ความทุกข์ เช่นเดียวกับเราเดินไปตามทาง ก็ยังไม่สงบและฉลาดเท่าที่ควรอยู่แล้ว ยังฝืนก้าวออกไปเดินสองฟากทาง และเหยียบขวาก เหยียบหนาม นั่นเป็นความสุข และ เป็นความถูกต้องดีงามแล้วหรือ? นี่เป็นการเตือนตัวเอง ผู้ใดที่จะมากล่าวเป็นความถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า มีที่ไหนในโลกนี้!

ศาสดามีเพียงองค์เดียว ที่สอนถูกต้องแม่นยำ จงนำธรรมนั้นเข้ามาพิจารณาดูในตัวเรา ท่านสอนว่าอย่างไรบ้าง ถือเอาคำที่ถูกต้องนั้นแหละ เป็นหลักดำเนิน ที่จะหมุนจิตหมุนสติปัญญาเข้าไปสู่ความจริงนั้น ฝืนจากสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ที่คอยฉุดลากเรา ให้ออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอ ฝืนโดยไม่หยุดไม่ถอย นี่ชื่อว่า “นักรบ” เพราะจิตซึ่งกิเลสคอยกระซิบนั้นกระซิบอยู่ตลอดเวลา ให้เราทราบว่า ความกระซิบเหล่านั้นส่วนมากร้อยทั้งร้อยมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งมวล

ความฝืนสิ่งกระซิบ ความฝืนความฉุดลาก ความฝืนใจจากสิ่งจอมปลอม นั้นแลคือ “ธรรม” เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมาทางร่างกาย จิตใจรู้สึกท้อแท้อ่อนแอ นั่นคือ โลกแท้ คือ กิเลส ตัวหลอกลวงแท้ ไม่สงสัยให้เสียเวลา

ตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ ทุกข์ ก็คือ ทุกข์ จะให้เขาเป็นอะไรอีก สติปัญญา ก็พิจารณาให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ทุกข์ เรา คือ เรา เมื่อความจริงเข้าถึงกันแล้ว ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ เป็นความจริงเสมอกัน เมื่อต่างอันต่างเป็นความจริงแล้ว ก็ไม่ทะเลาะวิวาทกันอีก ไม่เป็นข้าศึกต่อกันอีก

การพิจารณานี้ อย่างน้อย ก็เพื่อความ สงบศึก มากยิ่งกว่านั้น ก็ให้เสร็จ ให้สิ้นการเป็นข้าศึกกัน เพราะการพิจารณาอยู่เวลานี้ จงคลี่คลายดูให้หมด จะทุกข์มาก ทุกข์น้อยเพียงไร เราไม่ใช่ผู้ล่มจมไปด้วยทุกข์ เราเป็น “ผู้รู้” ทุกข์ต่างหาก และเราเป็นผู้พิจารณา ทุกข์ ต่างหาก ทำไมจึงจะมากลัวในเรื่องทุกข์ ซึ่งมันเป็นอันหนึ่ง ต่างหากจากใจ

ความจริง ถ้ามี “สติ” มาก จิตเด่น เราฝึกหัดสติเราให้ได้มากเท่าไร ความรู้นั้นยิ่งเด่น เพราะ สติ เป็นเครื่องเสริมความรู้ ปัญญา คือ ความฉลาด เป็นเครื่องบุกเบิก สิ่งที่จิตติดข้อง ให้ก้าวไปอย่างฝืดเคืองไม่ราบรื่นชื่นใจ พิจารณาให้ทันกับเหตุการณ์ เพราะไม่เห็นมีสิ่งแปลกอะไรในร่างกายเรานี้ มีแต่สิ่งที่เคยรู้ เคยเห็น คือ สัจธรรม เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรที่จะแปลกปลอมยิ่งกว่านั้นไปอีก มีอะไรมาเพิ่มเติม พอให้เกิดความท้อถอย ทุกข์น่ะ ก็มีเท่านั้น เขาเคยแสดงอยู่ตลอดเวลา เราเคยพิจารณาอยู่แล้ว

ปัญญา เป็นเครื่องแก้ทุกข์ เป็นเครื่องรู้เท่าทันทุกข์ เราก็ทราบอยู่แล้ว นำมาพิจารณาให้เห็นเรื่องของทุกข์ ว่าเป็นทุกข์อย่างแท้จริงตามหลักธรรมชาติ ผู้รู้ ก็ให้รู้ทุกข์ อย่างแท้จริงตามหลักธรรมชาติของตน ทุกข์จะเกิดมากน้อยเพียงใด ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมันคนละเรื่อง ทุกข์ก็เป็นอันหนึ่ง เราก็เป็นอันหนึ่ง มันคนละเรื่อง ถ้าเอามาคละเคล้ากันต้องเดือดร้อน เพราะทุกข์เป็นของร้อนอยู่แล้ว เช่นเดียวกับไฟ เป็นของร้อน เราเอามาจี้เรา มันก็ร้อน ถ้าไฟเป็นไฟ เราเป็นเรา ไม่เอามาเกี่ยวข้องกัน ไฟก็ไม่มีความหมายอะไรกับเรา จะมาทำความทุกข์ให้เราไม่ได้ นี่ถ้าเราไม่ไปจับไปคว้าไฟ คือ ทุกข์ พอจะให้เกิดความร้อนขึ้นมา ความทุกข์ก็ไม่มาเสียดแทงจิตใจเราได้ สติปัญญาขุดค้นจนให้ถึงความจริงแห่งทุกข์ ให้ถึงความจริงแห่งกาย กายก็เป็นกาย ทุกข์ก็เป็นทุกข์ หรือรูปเป็นรูป เวทนาเป็นเวทนา พิจารณาให้ละเอียดลออ

ตัวสัญญาที่คอยหมายมั่นนั้นเร็วที่สุด ตัวสัญญานี่มันคอยจะหมายอยู่เรื่อยๆ ถ้าแยกออก เราก็เป็นกรรมการคนหนึ่งที่ทรงพลังสติปัญญาไว้อย่างเต็มภูมิ จงแยกขันธ์นั้น ๆ ด้วยสติปัญญา อย่าให้มันเข้าพัวพันกันไม่เกิดประโยชน์ นอกจากเกิดทุกข์โดยถ่ายเดียว จงแยกมันออกด้วยปัญญา มี ๕ อาการเท่านี้แหละ รูปคือ กาย เวทนา คือ สุข ทุกข์ เฉย ๆ สัญญา คือ ความจดจำความสำคัญต่าง ๆ สังขาร คือ ความคิด ความปรุง ของใจ วิญญาณ คือ ความรับทราบ เวลามีสิ่งภายนอกมาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอยู่เท่านี้

ที่สำคัญที่สุด คือ สัญญา กับ เวทนา นี้แหละ สำคัญอยู่มาก สติต้องจดจ่อลงที่นี่ พิจารณาที่นี่ให้ชัดเจน ใจจะมีความมั่นคงต่อตนเอง และอบอุ่นด้วยสติปัญญา รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ ข้าศึก ก็คือสิ่งเหล่านี้เอง เป็นข้าศึกต่อเราไม่ใช่อะไร ถ้าพิจารณาไม่รอบ พิจารณารู้ไม่เท่าทัน ก็ทุกขเวทนานี้แลจะมาเป็นตัวทุกข์ภายในจิตใจเพิ่มเข้าอีก เพราะเราเอื้อมไปจับ หรือ ไปยึด จิตใจอยู่ดี ๆ ก็เลยกลายเป็นทุกข์ขึ้นมา แทนที่ใจจะเป็นภาชนะแห่งธรรมเลยกลายเป็นภาชนะแห่งทุกข์ขึ้นมาเสีย

ฉะนั้น จึงต้องแยกออกด้วยปัญญา ให้รู้ตามความจริงของมัน พระพุทธเจ้าทรงรู้อย่างนี้ พระสาวกทั้งหลายรู้ด้วยวิธีการพิจารณาอย่างนี้ และรู้เด็ดขาดด้วยอำนาจของสติปัญญาที่แหลมคม พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า จนเป็นที่เข้าใจ

สุดท้ายขันธ์ก็เป็นขันธ์ จิตก็เป็นจิต ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกกัน ทั้ง ๆ ที่อยู่ด้วยกัน นั่น! เพราะต่างอันต่างไม่มีเรื่องอะไรมากระทบกระเทือนกัน เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วเป็นเช่นนั้น ท่านมีความผาสุกสบายในท่ามกลางแห่งขันธ์ ที่เป็นกองเพลิงทั้งกองนั้น แต่เราอยู่ในกองเพลิง หรือ ทุกข์ร้อนอยู่ในกองเพลิง คือ เบญจขันธ์ จึงต้องอาศัย สติปัญญา ศรัทธา ความเพียรเป็นน้ำดับไฟ ให้เป็นความเย็นขึ้นมาที่ใจของตน

เรื่องความเป็น ความตาย มันอยู่ในขันธ์นี้ อย่าไปคิด ไปคาด ถึงวันมันตายของมันเอง ถึงกาลเวลามันตายของมันเอง อยู่ไหนมันก็ตาย เพราะเรื่องความตายเป็นธรรมชาติตายตัวอยู่แล้วกับขันธ์นั้น ๆ

สำคัญที่เราจะให้เกิดสารประโยชน์แก่ตัวเรานี้ จะให้เกิดได้ด้วยวิธีใด นี่เป็นสิ่งสำคัญ ขาดทุน ก็ ขาดทุนไปตรงนี้ ได้กำไรก็ได้ตรงนี้ แต่เรื่องความตาย เขาไม่ได้หวังทุนหวังกำไรกับใคร มันเป็นความจริงอันหนึ่งของหลักธรรมชาติของเขา เราไม่ต้องไปยุ่ง เอาตรงที่สำคัญนี้ ค้นลงให้เห็นความตายอย่างชัดเจนประจักษ์ใจ หมดลมที่ไหน ก็ปล่อยกันยากอะไร! ความตายไม่ยาก เพราะเป็นการทิ้งนี่

การหลงน่ะซี มันลำบาก มันเป็นทุกข์ การหลง การห่วง มันลำบาก มันเป็นกิเลส มันเป็นทุกข์ การตายจริง ๆ มันไม่ทุกข์นี่ เป็นการสลัดปัดทิ้งทุกอย่าง รู้ความเป็นจริงแล้ว ก็สลัดทิ้งอย่างนั้น ไม่มีปัญหาอะไร พิจารณาให้เด่นในจิต เมื่อมันเด่นแต่ทุกข์ เด่นแต่สมุทัย มันก็มีแต่ทุกข์เต็มตัว เต็มหัวใจนั้นแล

ถ้าสติปัญญาเด่น จิตก็เด่น เด่นดวง รื่นเริง ตัวเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของตัวเอง ตัวเป็นตัวของตัวเอง เป็นเนื้อเป็นหนังของตัวแล้ว ไม่ต้องอาศัยอะไรมาเป็นเนื้อเป็นหนัง อาการเหล่านั้นเป็นของที่ไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าเราไปจับไปต้อง ไปยึดไปถือ ก็กลายเป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว จะถือเอาเป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ได้ แต่จะให้เป็นโทษจริงๆ มันรวดเร็ว ขันธ์ก็เป็นโทษในความยึดถือของเราที่ไปสำคัญมั่นหมายนั่นแล

อะไรจะสว่างยิ่งกว่าใจ เมื่อขัดสิ่งที่เป็นมลทิน ที่สกปรกทั้งหลายออกจากใจแล้ว ไม่ต้องบอกว่าใจจะสว่าง หรือไม่สว่าง สว่างขึ้นเอง สามารถฉลาดรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรนอกเหนือจากใจนี้ไปได้ สงครามอันนี้เป็นสงครามที่สำคัญมาก สำหรับเราแต่ละคน ละคน ผู้ปฏิบัติศาสนาจึงต้องถือนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะนี้เป็นจุดจำเป็นที่เราต้องรู้เท่าทันโดยแท้ เป็นจุดแพ้ จุดชนะ จุดเป็น จุดตาย จุดทุกข์ จุดลำบากทรมาน ก็อยู่ที่จุดนี้ หลุดพ้นก็อยู่ที่จุดนี้ ได้ชัยชนะก็อยู่ที่จุดนี้ คือ ความเกษมสำราญ ถ้าไม่ถึงที่จุดนี้ จะไปถึงที่ตรงไหน ถึงที่นี่แหละ! เมื่อถึงที่นี่แล้ว ไม่ต้องไปถามหา “นิพพาน” ให้เสียเวล่ำเวลา

เอ้า ชื่อสมมุติว่ากันไป กิเลสมันอยู่ภายในหัวใจเรา เราไม่ได้ให้ชื่อมันว่า “กิเลส” มันยังทำให้เราทุกข์ได้ทั้งวันทั้งคืน “โอ๊ย วันนี้ไม่สบายใจ! อะไรต่าง ๆ ยุ่งไปหมด จนนอนไม่หลับ จะเป็นบ้าเป็นบอ” กิเลสไม่เห็นได้พูดว่า มันทำอันตรายเราอย่างนั้นอย่างนี้ หรือ ทำพิษเรา มันไม่เห็นว่ากัน ไม่ว่ากัน ก็ตาม เมื่อมันเป็นกิเลส มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ธรรมคือ “นิพพานธรรม” ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้ว ว่าไม่ว่า ใจก็บริสุทธิ์อยู่นั่นแล จะให้ชื่อให้นามหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ได้ถึง ได้อยู่ที่ความบริสุทธิ์ จะเป็นความเกษมสำราญอย่างยิ่งภายในนั้น นี่แหละคือ สนามรบ! ที่แสดงมานี้ เอาให้รู้ให้เห็นกันที่นี่ รู้ที่นี้แล้วก็เป็น “โลกวิทู” รู้แจ้งไปหมด นั้นแหละ เพราะสภาพทั้งหลายเหมือน ๆ กัน พอเข้าใจอันหนึ่งแล้ว ก็เข้าใจไปหมด แม้แต่ร่างกาย เราเข้าใจอาการใด อาการหนึ่ง มันยังทั่วถึงไปหมด หลุดพ้นไปหมด เวทนา ก็ที่มีอยู่ในจุดหนึ่ง มันก็ซาบซ่านไปหมด เป็น “โลกวิทู” เข้าใจไปเหมือนกัน นี่แหละ “โลกวิทู” ของพวกเราเป็นอย่างนี้

โลกวิทู” ของพระพุทธเจ้า นอกจากรู้อย่างนี้แล้ว ยังรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งไปอีกมากมายเกี่ยวกับสัตว์โลก เกี่ยวกับสภาวธรรมต่าง ๆ ทั่ว ๆ ไป เราไม่ใช่วิสัยอย่างนั้น

ที่เหมาะแก่จริตนิสัย หรือความสามารถของเรา จงให้เป็น โลกวิทู” รู้แจ้งตรงที่มันกำลังมืดอยู่เวลานี้ สิ่งใดเป็นสิ่งที่ปิดบัง กำหนดพิจารณาสิ่งนั้นให้ทราบชัดตามความจริงด้วยปัญญา ท่านว่า “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ความสว่าง เสมอด้วยปัญญาไม่มี” แน่ะ! และอะไรที่จะมืดเสมอด้วยกิเลสไม่มี จึงต้องแก้ด้วยปัญญาความสว่าง

เราตามไฟไปส่องหากิเลสวันยังค่ำ ก็ไม่มีกิเลสตัวไหนจะมาโง่ๆ ให้เราได้ดูมัน เปิดไฟฟ้าเข้าไปให้เห็นตัวของกิเลส แต่กิเลสมันไม่ได้โง่เหมือนเรานี่

เพื่อให้ทันกิเลส มันต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องตามกิเลส ส่องดูกิเลสด้วยสติปัญญา เห็นทั้งหน้าทั้งตา เห็นทั้งโคตรทั้งแซ่ เห็นทั้งรากเหง้าเค้ามูลของมัน ถอนขึ้นมาได้หมดด้วยอำนาจของปัญญานี้เท่านั้น ท่านจึงว่า “เครื่องมือที่ทันสมัย คือ ปัญญา” สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ท่านว่า “อาโลโก อุทปาทิ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” “ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ” เกิดขึ้นที่ไหน ก็เกิดขึ้นที่นั่น ที่เคยมืดดำ และสว่างขึ้นที่นั้นแล

จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ” นี่แหละ “มรรค ๘” เป็นไปเพื่ออย่างนี้แหละ เป็นไปเพื่อบรรลุ เพื่อตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน

วันหนึ่งๆ ให้พิจารณารอบตัวอยู่นี่เสมอ จิต เมื่อมีเครื่องรักษา ก็สว่าง ปัญญา พาให้สว่างโล่งอยู่ภายในตัวเอง อะไรจะเกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์ดับไปก็รู้ รู้โดยความโล่งของสติปัญญาเอง

นี่แหละเย็นสบาย ตายเมื่อไรก็ไม่มีปัญหา เพราะธรรมชาตินั้น ไม่ตายแล้ว ไม่หลงแล้ว ไม่ล่มจมแล้ว ก็มีเท่านั้น สิ่งที่เราต้องการ ขอให้นำไปพิจารณา

เอาละ แสดงธรรม ก็เห็นว่าพอสมควร

พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 37.51 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

Featured

ธรรมะจากพระพุทธเจ้า พระยาธรรมิกราช พุทธโอวาทกึ่งพุทธกาล


ตอนที่ ๑๑๒ – ๒๑๓

ตอนที่ ๑๑๒ #ชนะตนเองเป็นการชนะที่แท้จริง

การเอาชนะตนเองได้ จะชนะผู้อื่นด้วยหรือเปล่า การเอาชนะผู้อื่นได้ จะเป็นการชนะตนเองด้วยหรือเปล่า
การชนะผู้อื่นไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง การชนะภายนอก เป็นชัยชนะที่ไม่เที่ยงแท้ การชนะข้างในด้วยการละ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น จะเป็นผู้ชนะตนเอง จะสามารถชนะสรรพสิ่ง ที่ไม่ดีที่จะเข้ามา เมื่อชนะความไม่ดีแล้ว ให้ชนะความดีที่ทำด้วย เพื่อจะได้สลายทุกสิ่ง จะได้เป็นชัยชนะที่แท้จริง ไม่ต้องกลับมาเกิด มาแพ้อีก

ตอนที่ ๑๑๓ #การถวายดอกไม้บูชาพระ

การถวายดอกไม้บูชาพระ จะได้รับอานิสงส์อย่างไร การจัดหาดอกไม้เพื่อถวายพระ ด้วยความยินดี พอใจ นอบน้อมนำมาถวายบูชา ด้วยสิ่งที่สวยงามเป็นสิ่งแทนใจ ได้สละแรงกายขวนขวายในการทำดี ทำแล้วมีความสุข ทำให้จิตใจชื่นบาน ได้อานิสงส์ความสุขสู่ภายใน จึงจะเป็นการทำดี เข้าใจวิธีในการถวาย การบูชาอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๑๔ #ทำผิดต่อพุทธศาสนา

ถ้าเคยทำผิดต่อพุทธศาสนา จะให้แก้ไขอย่างไรดี
การทำผิดต่อพระพุทธศาสนา จะเป็นกรรมที่หนักมาก เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม กระทบคนหมู่มาก ถ้ากระทำผิดไปแล้ว ให้จงหมั่นนั่งกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วขอขมากรรม จะไม่ทำความผิดเช่นนั้นอีก แล้วให้แก้ไขตนในปัจจุบัน ให้ทำความดี ที่ก่อเกิดประโยชน์ในพระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้มีพลังบุญมาค้ำหนุน เมื่อมีหนี้กรรมไม่ดีมาให้ผล จะได้ไม่ทุกข์ไม่เร่าร้อนจนเกินไป

ตอนที่ ๑๑๕ #มีหนี้แล้วอยากออกบวช

มีหนี้สินมากมาย แต่ต้องการออกไปเป็นนักบวช จะต้องทำอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต ล้วนมีสิ่งที่ซ่อน ที่ซ้อนอยู่ในนั้น การมีทรัพย์สินแล้วออกบวช หรือหนี้สินแล้วออกบวช ก็เป็นสิ่งที่ทดสอบจิตใจ มีสิ่งที่ต้องฟันฝ่าอยู่ในนั้นทั้งหมด ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริง ย่อมมีทางออก เมื่อยังไม่ถึงเหตุปัจจัยที่สมควร ก็ให้ฝึกบวชที่ใจก่อน ให้ทำความดีไปเรื่อยๆ ฝึกสวดมนต์ ภาวนา จิตใจจึงจะมีพลังบุญนั้นมาค้ำหนุน เปิดทางให้เราได้บวชเอง

ตอนที่ ๑๑๖ #ไม่เคยทำทานจะไปนิพพานได้ไหม

ผู้ที่ไม่เคยทำทานเลย จะสามารถไปนิพพานได้ไหม การที่จะไปนิพพานได้นั้น ต้องสละ ละวางได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีจิตใจที่มีเมตตา ถ้ายังมีความยึดติดในสิ่งใด ย่อมไปสู่ความหลุดพ้น เข้าสู่พระนิพพานยังไม่ได้

ตอนที่ ๑๑๗ #จะทำดีกับพ่ออย่างไร เมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว

จะทำความดีกับพ่อได้อย่างไร เมื่อท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว
สำหรับลูกที่ยังมีพ่ออยู่ในโลก คงทำให้ท่านมีความสุขในวันพ่อ แต่สำหรับผู้ที่เป็นลูกที่พ่อได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก็สามารถทำดีกับท่านได้ เพราะการตายนั้น ตายเพียงแค่ร่างกาย ดวงจิตไม่ได้ดับสูญไปด้วย การทำบุญ ทำทาน สวดมนต์ รักษาศีล ภาวนา ส่งกุศลความดี แผ่บุญบารมีไปให้ท่าน ไม่ว่าจะตกไปอยู่ในภพภูมิใด ก็สามารถที่จะได้รับความสุขเสมอ

ตอนที่ ๑๑๘ #การมาเกิดเป็นมนุษย์ของเทพผู้ใหญ่หรือโพธิสัตว์

เทพผู้ใหญ่หรือโพธิสัตว์ สามารถแบ่งจิตลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ เป็นหลายคนพร้อมกันได้ไหม
ทำได้ แต่เขาไม่ทำกัน เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องมีเหตุผลมากพอถึงมาเกิดกัน ผู้เป็นเทพผู้ใหญ่ เป็นโพธิสัตว์ ย่อมมีหน้าที่มากมายในโลกทิพย์ ที่จะต้องดูแลดวงจิตมากมาย ทั้งอยู่ในสวรรค์ มนุษย์ บาดาล หรือผู้ที่ตกไปสู่ภูมิอบาย การเกิดเพื่อเป็นมนุษย์ในคราวเดียวกันจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครเขาทำกัน

ตอนที่ ๑๑๙ #พระอรหันต์ต้องการอยู่สวรรค์

ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ต้องการที่จะอยู่สวรรค์ตลอดไปได้หรือไม่ดวงจิตของพระอรหันต์เป็นดวงจิตอิสระเสรี จะอยู่ในที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว ดวงจิตที่พ้นทุกข์แล้ว ก็จะไปอยู่ในที่สงบสุข ไม่มีกลิ่นไอของกิเลสตัณหา การอยู่ในสวรรค์ตลอดไป จึงไม่มีองค์พระอรหันต์ท่านใด ที่ท่านทำเช่นนั้นเลย

ตอนที่ ๑๒๐ #นั่งภาวนาดูลมหายใจไปนิพพานได้ไหม

ฝึกดูลมหายใจเข้าออก จะเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ไหมแนวทางการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มีอยู่เยอะแยะมากมาย สามารถฝึกกรรมฐานกองใดก็ได้ ในกรรมฐาน ๔๐ กอง ถ้าทำให้จิตใจสงบสุข มีพลัง รู้เท่าทันในสิ่งที่จะมาล่อหลอกให้ลุ่มหลง การดูลมหายใจเข้าออก ถ้าตั้งใจปฏิบัติอยู่ในกรอบของศีล ธรรม สมาธิ ปัญญา ย่อมจะเป็นปัจจัยค้ำหนุนให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้ เช่นเดียวกัน

ตอนที่ ๑๒๑ #ไม่ยึดติดในร่างกายจะเป็นพระอรหันต์ได้ไหม ถ้าตัดความลุ่มหลง ยึดติดในร่างกาย จะสำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ไหม บุคคลที่สามารถถอดถอนความยึดติด ลุ่มหลงในร่างกายได้ ย่อมเป็นดวงจิตที่มีพลังบุญบารมีมาก ใกล้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานแล้ว แต่เมื่อตัดความยึดถือในกายหยาบได้ ต้องตัดความยึดถือในกายทิพย์ และสลายความยึดมั่นถือมั่นในจิตนั้นด้วย จึงจะพ้นความทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

ตอนที่ ๑๒๒ #ใส่บาตรด้วยเงินจะเป็นบาปหรือไม่ การตักบาตรด้วยการใส่เงินลงไปในบาตร จะเป็นบาปไหม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นปัจจัย ๔ ที่สำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวช เงินเป็นปัจจัยในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มา การใส่บาตรด้วยเงิน จึงเป็นการทำบุญทำทานเป็นไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ตอนที่ ๑๒๓ #การถวายที่ดิน

การถวายที่ดินเพื่อประโยชน์ในพุทธศาสนา แต่ผู้รับกลับนำไปทำสิ่งที่ไม่ดี ผู้ถวายจะมีบาปร่วมด้วยหรือไม่ การทำบุญทำทานควรประกอบด้วย สติปัญญา พิจารณาก่อนว่า ควรถวายกับใคร เพื่อจะได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของเรา ถวายแล้วให้ปล่อยวาง บุญกุศลที่ได้ถวายที่ดินสำเร็จแล้ว แต่ถ้าผู้รับนำที่ดินไปทำสิ่งไม่ดี ก็เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ กรรมของใครของมัน ย่อมส่งผลไม่ถึงเรา เพราะเราตั้งใจสร้างความดี ไม่ได้น้อมที่จะทำความไม่ดีด้วย แต่ถ้านำไปสร้างความดี สร้างประโยชน์ บุญกุศลย่อมส่งมาถึงเราเสมอ เพราะเราตั้งใจน้อมที่จะร่วมสร้างความดี

ตอนที่ ๑๒๔ #คนที่ยังมีกิเลสอยู่จะมีความสุขได้ไหม คนที่ไม่มีหนี้กรรม แต่ยังมีกิเลส ตัณหา จะพบความสุขได้ไหม

คนที่ไม่มีหนี้กรรม ก็เหมือนผู้ที่ไม่มีหนี้สินกับใคร แต่ถ้ายังอยากได้ อยากมีสิ่งนั้น อยากเป็นสิ่งนี้อยู่ ย่อมมีความทุกข์อยู่ ลุ่มหลงในสิ่งใดเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ยึดติด ยึดถือในอะไรก็เป็นเหตุให้เป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง ฉะนั้น ผู้ที่ยังมีกิเลส ตัณหา จะพบความสุขที่แท้จริงได้ไม่ได้เลย จะพบได้กับผู้ที่ละ วางทุกสิ่งทุกอย่างได้เท่านั้นเอง

ตอนที่ ๑๒๕ #ธรรมะที่นำมาเผยแผ่มีที่มาอย่างไร การเผยแผ่ธรรมของพระยาธรรมิกราช นำคำสอนมาจากไหน พระยาธรรมิกราชเป็นดวงจิตที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นผู้แทนพระองค์ท่าน มาเผยแผ่ในกึ่งศาสนาของทุกพระองค์ ในรอบนี้ก็เป็นกึ่งศาสนาของสมเด็จองค์ปัจจุบัน ก็ได้สร้างพระยาธรรมิกราชมาเผยแผ่ธรรม ซึ่งทุกเช้าตอนตี ๕ ที่พุทธอุทยานภูสวรรค์ อำเภอเชียงของ ก็จะมีการแสดงธรรมสด จากการที่พระยาธรรมนั่งสมาธิ น้อมจิตเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาธรรม หรือขอฟังธรรมจากองค์ท่านที่พระนิพพาน และแสดงธรรมผ่านกายหยาบมาให้ทุกคนได้รับฟังทุกวัน จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้รับฟังธรรม ที่มาจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง

ตอนที่ ๑๒๖ #ถวายทานเองกับฝากไปทำบุญ การถวายทานด้วยตนเองกับการฝากไปทำบุญนั้น อานิสงส์ผลบุญแตกต่างกันไหม

การถวายทานจะทำด้วยตนเองหรือฝากไปนั้น อานิสงส์ผลบุญที่ได้ไม่มีความแตกต่างกัน ถ้าทำโดยไม่หวังเกียรติยศชื่อเสียง คำสรรเสริญใดๆ การได้บุญมากหรือน้อย จะอยู่ที่การทำแล้วยังยึดติดอยู่หรือไม่ ทำไปแล้วยังลังสงสัยในการทำอยู่หรือเปล่า ทำแล้วให้ปล่อยวาง จึงจะได้บุญกุศลอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๒๗ #ค้าขายเนื้อสัตว์เป็นบาปไหม การขายเนื้อสัตว์ โดยที่ไม่ได้ฆ่าเอง จะเป็นบาปไหม การค้าขายที่เป็นเนื้อสัตว์ ย่อมมีบาปกรรมอยู่ในนั้น จะมีกรรมมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเนื้อสัตว์นั้นผ่านมาขั้นตอนใดแล้ว ถ้าไม่ได้สั่งฆ่า ไม่รู้เห็นการฆ่า ไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเรา บาปกรรมย่อมเบาบางลงไป

ตอนที่ ๑๒๘ #ไปอยู่จักรวาลอื่นได้ไหม ดวงจิตที่ยังครองกายมนุษย์อยู่ สามารถที่จะอยู่ในจักรวาลอื่นโลกอื่นได้ไหม จิตครองกายเหมือนคนขับกับรถ ขึ้นอยู่ว่าจะพากันไปทำบุญหรือบาป ถ้าจิตมีพลังบุญมากก็จะสามารถไปในจักรวาลที่ดีได้ ถ้ามีบาปมากดวงจิตก็จะตกไป ในจักรวาลแห่งความทุกข์ได้ ดวงจิตไปในจักรวาลอื่นได้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ แม้ขณะที่ยังหลับหรือตื่นอยู่ สามารถไปใช้ชีวิตที่จักรวาลอื่นได้ ขึ้นอยู่กับกรรมดีหรือชั่วที่จะพาไป ไม่จำเป็นต้องรอให้ตายก่อน

ตอนที่ ๑๒๙ #สมัยพุทธกาลทำไมบรรลุธรรมได้เร็ว เมื่อสมัยพุทธกาลทำไมถึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้มากมาย และสำเร็จได้ง่ายกว่าในปัจจุบัน การที่ดวงจิตใดจะสำเร็จเป็นอรหันต์ ย่อมต้องสั่งสมบารมีมาเตรียมไว้ เพื่อรอรอบการอุบัติมาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ จึงมีดวงจิตที่เกิดมาในยุคนั้นได้สั่งสมบุญบารมีมามาก และ การศึกษาธรรมโดยตรงต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สงสัยสิ่งใดก็สามารถที่ชี้บอก ทำความเข้าใจได้ทันที ไม่ต้องไปค้นหาเอาเองจากตำรา จึงมีผู้บรรลุธรรมจำนวนมากและสำเร็จได้โดยง่าย

ตอนที่ ๑๓๐ #กรรมที่ติเตียนเพ่งโทษสายธรรมอื่น การที่ชอบติเตียนเพ่งโทษสายธรรมอื่น จะเกิดผลกรรมอย่างไรบ้าง การปฏิบัติในทางสายใด ถ้ามีองค์พระอรหันต์ได้เกิดขึ้นในสายธรรมนั้น ย่อมเป็นหนทางที่ถูกต้อง การปฏิบัติที่อยู่ในกรอบของศีล ธรรม สมาธิ ปัญญา ให้ปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง ไม่ให้ตึงไม่ให้หย่อนจนเกินไป ไม่ให้เพ่งโทษผู้อื่นให้ดูแต่ตนเอง เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดหนี้กรรมมาตัดรอน เป็นอุปสรรคขัดขวางในการปฏิบัติ ไม่ให้หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน…

ตอนที่ ๑๓๑ วัดแต่ละแห่งทำไมมีพลังพุทธบารมีไม่เท่ากัน

วัดพุทธเหมือนกัน ทำไมถึงมีพลังพุทธบารมี ความสงบร่มเย็นไม่เท่ากันสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นสิ่งสมมติ สถานที่แต่ละแห่งล้วนสมมติขึ้นมา การที่วัดแต่ละแห่งจะมีพลังเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับบุคคลที่อยู่อาศัยในที่นั้น จะทำให้เป็นไปเช่นใด การทำบุญสร้างกุศลความดี จึงจะทำให้ก่อเกิดพลังพุทธบารมี เกิดความสงบสุขร่มเย็น ไม่ใช่เกิดจากการสมมติให้เป็นสถานที่อะไร แล้วจะมีพลังความดี โดยที่ไม่ได้สร้างไม่ได้ทำอะไรขึ้นมา

ตอนที่ ๑๓๒ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าคืออะไรคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนเพื่อดับความทุกข์ ด้วยการดับการเกิด โดยการปฏิบัติในศีล ธรรม สมาธิ ปัญญา เพื่อจะไปถอดถอนกิเลส ตัณหา อุปาทาน ในจิตและไม่สร้างบาป อกุศลต่อไป ก็จะทำให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ เข้าถึงการดับการเกิดได้ในที่สุด

ตอนที่ ๑๓๓ วิธีปฏิบัติสายธรรมสัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะ

หลักคำสอนของสายธรรมสัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะ มีอย่างไร
สายปฏิบัติสัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะ มีพระยาธรรมิกราช เป็นผู้นำธรรมคำสอนมาเผยแผ่ในกึ่งพุทธกาล มีหลักสูตรค้นหาตัวตน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติรู้จักที่มาของดวงจิตตน จะได้ไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่มี ที่เป็น จนเกิดความทุกข์ จะได้ทำหน้าที่ของตนก่อนหมดเวลา

ตอนที่ ๑๓๔ หากเป็นทุกข์มากต้องทำอย่างไร

หากรู้สึกเป็นทุกข์มาก ต้องคิดอย่างไร ทำอย่างไรเพื่อให้คลายทุกข์ คนเราเกิดมา ไม่มีใครลิขิตชีวิตใครให้เป็นอะไรได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา ย่อมเกิดจากการกระทำของตนเองทั้งนั้น มาจากกรรมส่งผลมาต้องเป็นไปตามเหตุที่ทำไว้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงแท้ ความสุขก็ตั้งอยู่ไม่นาน ความทุกข์ก็ตั้งอยู่ไม่นาน ให้ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปเพ่งโทษสิ่งใด ทำใจให้ปล่อยวาง ความทุกข์นั้นก็จะผ่านไปในที่สุด

ตอนที่ ๑๓๕ ทำดีแต่เจตนาไม่ดีจะส่งผลอย่างไร

การทำความดีแต่มีเจตนาที่ไม่ดี จะส่งผลอย่างไร ให้แก่ผู้กระทำเช่นนั้น การกระทำใดๆ จะถือเจตนาเป็นใหญ่เป็นประธาน มุ่งเจตนาไปทางใด ก็จะส่งผลการกระทำไปทางนั้น ทำความดีด้วยเจตนาที่ดี ก็จะส่งผลให้ได้รับความดี ทำดีแต่เจตนาไม่ดีก็จะส่งผลให้ไม่ได้รับความดี ทำความชั่วเจตนาทำชั่วก็จะได้รับผลของการกระทำความชั่ว ทำความชั่วแต่ไม่ได้เจตนาก็จะได้รับผลแห่งความชั่วเบาบางลงไป การกระทำทั้งหลายขึ้นอยู่ที่เจตนา

ตอนที่ ๑๓๖ ไม่อยากทำแต่จำใจต้องทำ

ไม่อยากทำแต่มีความจำเป็นต้องทำ จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์ความอยากก็เป็นตัณหา ความไม่อยากก็เป็นตัณหา จึงไม่ควรนำมายุ่งเกี่ยวกับการทำสิ่งใด ถ้ามีเหตุปัจจัยที่มากพอก็ให้ทำไป การกระทำที่ก่อเกิดประโยชน์แก่คนมากมาย จะเป็นพลังคอยค้ำหนุนดวงจิต ให้หลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลส ตัณหา เป็นหนทางนำพาเราสู่ความพ้นทุกข์ จึงไม่ควรเอาความอยากหรือไม่อยากมาตัดสินในการทำสิ่งใด

ตอนที่ ๑๓๗ เข้าใจผู้อื่นแต่ไม่มีใครเข้าใจเรา

ข้าใจผู้อื่นแต่ไม่มีใครเข้าใจเราเลย จะให้คิดอย่างไรเพื่อจะไม่ให้เป็นทุกข์การเข้าใจผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี จะเข้าใจผู้อื่นได้ต้องประกอบด้วยความเมตตา รู้จักให้อภัย เป็นการสร้างความดี จะเป็นพลังมาหนุนนำจิตใจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในลำดับต่อไป ให้เราศึกษาที่จะทำความเข้าใจในตัวเราด้วย เพื่อจะเป็นการเปิดจิตใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เมตตาผู้อื่นได้ ให้อภัยผู้อื่นได้ ต้องรู้จักเมตตาให้อภัยตัวเองด้วย ไม่ต้องรอให้ใครมาเข้าใจเรา ขอให้เราเข้าใจตัวเราเองก็พอ

ตอนที่ ๑๓๘ กำลังใจอยู่ที่ไหน

กำลังใจอยู่ที่ไหน คนเรามีกำลังใจอยู่ภายในจิตใจของเราเอง แต่คนส่วนมากไปฝากกำลังใจเอาไว้ภายนอก ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นกำลังใจ เมื่อสิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแท้ กำลังใจเลยขาดหายไม่มาตามที่ต้องการ ทำให้พบกับความทุกข์ ฉะนั้น ไม่ต้องฝากกำลังใจไว้ที่ไหน ให้เอาไว้กับตัวเราเอง แล้วสร้างกำลังใจขึ้นมาด้วยการทำจิตใจให้สงบ จะมีพลังต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาที่จะเข้ามาในชีวิต ให้พ้นจากความทุก

ตอนที่ ๑๓๙ กรรมฆ่าพ่อแม่

กรรมจากการฆ่าพ่อแม่ จะต้องรับผลกรรมอย่างไรบ้างพ่อแม่ คือผู้ให้กำเนิด ให้ชีวิตเลือดเนื้อเรามา เป็นผู้มีพระคุณอันดับหนึ่ง การทำร้ายท่าน จึงเป็นกรรมที่หนักมาก เมื่อตายไป ต้องตกนรกขุมที่ลึกที่สุด นักบุญทั้งหลายไม่สามารถแผ่บุญไปให้ได้ ต้องชดใช้หนี้กรรม ในอบายภูมิเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไล่ลำดับขึ้นมา กว่าจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีกครั้ง เป็นเรื่องยาก จึงไม่ควรที่จะทำกรรมหนักนี้เลย

ตอนที่ ๑๔๐ ทำความดีแต่ไม่ละความชั่ว

การที่สร้างบุญ แต่ยังไม่เลิกสร้างบาป ชีวิตจะพบกับความสุขได้ไหม
การกระทำใดที่ทำไปแล้ว ผลการกระทำย่อมส่งผลมาให้เราได้รับทั้งหมด การกระทำทั้งความดีและความชั่ว ย่อมให้ได้รับผลทั้งความสุขและความทุกข์ แม้จะเป็นการกระทำเพียงเล็กน้อยแค่คำพูด ความคิด ย่อมมีผลให้ได้รับผลกรรมทั้งนั้น ขึ้นว่ากรรมไม่ดีจึงไม่ควรกระทำเลย

🌎”~🍃`🙏”☘️{🏵️}~🌏

#สริยะ #มหาสติ

ตอนที่ ๑๔๑ ชะตาชีวิตหลังฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตายจะได้รับผลกรรมอย่างไรบ้างการทำร้ายตนเองให้ตายไป เป็นทำลายต้นทุนความดีที่ได้สร้างมา ตายไปก็เป็นสัมภเวสีจนหมดอายุขัย ต่อไปต้องตกไปในนรกอีก กว่ากลับจะออกมาได้ ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนับชาติไม่ถ้วน ให้ต้องถูกฆ่าอย่างทารุณ การกลับมาเกิดเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ยากมาก สำหรับผู้ที่ได้เกิดมาแล้วไม่รู้จักคุณค่าของชีวิตที่ได้มา จึงไม่ควรทำเช่นนั้นเลย

ตอนที่ ๑๔๒ การทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น

การสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จะต้องได้รับผลเช่นใดการทำสิ่งใดที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งกายหรือทางใจ จะเล็กน้อยหรือมายมาย แม้แต่เป็นต้นไม้ ธรรมชาติ จะเป็นสัตว์น้อยหรือสัตว์ใหญ่ จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ก็ยังมีผลที่จะทำให้ต้องได้รับผลกรรมในสิ่งที่ทำทั้งหมด ฉะนั้น การจะทำสิ่งใด ต้องพิจารณาให้ดี ก่อนที่จะลงมือทำ เพื่อจะไม่ให้ต้องรับความทุกข์ จากเจ้ากรรมนายเวรในภายหลัง

ตอนที่ ๑๔๓ พุทธโอวาทวันสิ้นปี พ ศ ๒๕๕๘

พุทธโอวาทจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๘
การเกิดมาของมาเป็นมนุษย์นั้น มาเพื่อสร้างบุญบารมี มาสร้างความดี วันสิ้นสุดของปีแล้ว ให้พิจารณาประเมินดูว่าได้ผลกำไรหรือขาดทุน ในการกระทำความดีทั้งหลายมาตลอดปี เพราะชีวิตได้หมดลงไปอีกปีหนึ่งแล้ว ยังไม่รู้ว่าเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ จึงไม่ควรประมาทในเวลาที่เหลืออยู่ ให้ขวนขวายสร้างความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป ไม่อย่างนั้นอาจจะขาดทุนกลับไป เมื่อหมดเวลาต้องจากโลกนี้ไป

ตอนที่ ๑๔๔ อานิสงส์ของการสวดมนต์ทำบุญข้ามปี

การสวดมนต์ทำบุญข้ามปี จะก่อเกิดอานิสงส์ความสุขอย่างไรการสวดมนต์เป็นสร้างความดี จะก่อเกิดพลังพุทธบารมีมาคลุมจิตคลุมกาย เป็นการเริ่มต้นใหม่ของปี สิ่งที่เพาะหว่านเมล็ดพันธุ์ความดีไว้ ย่อมเกิดหมากผลให้เราได้รับความสุข แต่ถ้ายังปรารถนาได้รับความดี มาสู่เราอย่างต่อเนื่องตลอดไป ก็ให้ทำความดีต่อไปให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ฝากความดีความสำเร็จทั้งหลายไว้กับการสวดมนต์ข้ามปีเพียงอย่างเดียว

ตอนที่ ๑๔๕ การพลัดพราก

การพลัดพรากจากบุคคลที่รัก จะทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นทุกข์ธรรมชาติสร้างสายน้ำให้ไหลไปในทิศทางใด น้ำย่อมไหลไปในทิศทางนั้น การที่จะให้น้ำไหลย้อนทวนกระแส ย่อมเป็นไปไม่ได้ การที่มีการพบแล้วมีการจากลา จึงเป็นเรื่องธรรมดา ทำความเข้าใจธรรมชาติ ยอมรับความเป็นจริง ในความไม่เที่ยงแท้ ทำใจให้ปล่อยวาง ก็จะดับความคิดถึงลงไปได้

ตอนที่ ๑๔๖ ให้อยู่กับปัจจุบัน ***

การที่จมอยู่ในอดีต จิตฟุ้งไปในอนาคต จะแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นทุกข์การเอาเรื่องที่ผ่านไปแล้วมาครุ่นคิด ติดอยู่ในอดีต เอาสิ่งที่ยังไม่มาถึง มาเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ให้แก้ไขด้วยการฝึกสติ ฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบัน ทำสมาธิให้จิตมีพลังที่แข็งแกร่ง ก็จะเกิดปัญญา สามารถสลายความคิดทั้งหลาย ที่จรเข้ามาทำใหว้าวุ่นเหล่านั้นไปได้

ตอนที่ ๑๔๗ อานิสงส์ของการตอบแทนคุณพ่อแม่

ตอนที่ ๑๔๘ หน้าที่ของคนมีคู่

ผู้ที่มีคู่ครองต้องทำหน้าที่อย่างไร ที่จะไม่ให้เป็นการเบียดเบียนกัน เพื่อให้เป็นทุกข์
การที่มีคู่ครองเปรียบเหมือนรถยนต์สี่ล้อ ล้อหนึ่งคือสามี ล้อที่สองคือภรรยา ล้อที่สามคือญาติฝ่ายสามี ล้อที่สี่คือญาติฝ่ายภรรยา รถจะวิ่งได้ดีไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย จะต้องดูแลเอาใจใส่ล้อยาง แต่ละด้านให้เสมอกัน ล้อข้างใดมีปัญหาขึ้นมาย่อมไม่ปลอดภัย การมีคู่ครองต้องเอาใจใส่ดูแลซึ่งกัน จึงจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์

ตอนที่ ๑๔๙ เมื่อถูกเบียดเบียน

ถ้ามีคนทำไม่ดีกับเรา ควรคิดอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ สิ่งใดที่ไม่เคยปลูกไม่เคยทำไว้ ย่อมไม่มีสิ่งนั้น ผลนั้น เกิดขึ้นแก่เรา ให้ยอมรับศรัทธาในกฏของกรรม รักษาศีล ทำจิตให้สงบ ก็เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริงในเหตุที่เกิดขึ้น จะสามารถปล่อยวาง ในสิ่งที่ผู้อื่นกระทำไม่ดีกับเรา ความทุกข์ทั้งหลาย ก็จะผ่านเราไป ไม่อยู่กับเราอีกต่อไป

ตอนที่ ๑๕๐ ทำความดีแล้วมีคนไม่เห็นด้วย

การทำความดีแต่คนรอบข้างไม่เห็นด้วย จะคิดอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นทุกข์ การทำความดีไม่ว่าเล็กน้อย หรือความดีมากหน่อย ย่อมมีอุปสรรค มีบททดสอบความดีอยู่ในนั้น เมื่อมีผู้ทักท้วงก็ให้พิจารณาทบทวน ดูว่าความดีที่เราทำเบียดเบียนใครอยู่หรือเปล่า ใช้ความอยากในการทำความดีอยู่หรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่ยังบกพร่องอยู่ ก็ให้ปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง ให้เป็นการทำความดีที่ดียิ่งๆขึ้นไป

แหล่งที่มา:

วิดีโอ:https://www.youtube.com/watch?v=XIEygaI86s8&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI&index=153

ตอนที่ ๑๕๑ #เอาอะไรมาวัดความดี

จะเอาอะไรมาตัดสิน ว่าสิ่งที่เราทำเป็นความดีการทำความดี ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีสิ่งใดแอบแฝงอยู่ในนั้น ทำไปโดยไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทน ทำไปแล้วไม่เบียดเบียนใคร แม้แต่ตัวเราเอง ทำไปแล้วไม่ยึดถือเอาไว้ ให้ปล่อยวาง จะได้ไม่กลายเป็นการยึดดี หลงดี ให้การทำความดีนำไปสู่ความทุกข์ จึงจะเป็นการทำความดีอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๕๒ #ความไว้ใจ

ความไว้ใจบุคคลผู้อื่น จะวางใจอย่างไรถึงจะไม่เป็นทุกข์เมื่อไว้ใจฝากไว้กับใคร ให้ระลึกเสมอถึงความไม่เที่ยงแท้ ไว้ใจสักว่าไว้ใจ แต่อย่าฝากความหวังไว้มาก ให้ต้องกลับมาเป็นทุกข์ เพราะความแน่นอนเที่ยงแท้ย่อมไม่มีในโลกนี้ ให้วางใจให้เป็นกลาง ให้ความไว้ใจพอประมาณ ไม่ต้องทุ่มจนหมดทั้งใจ ให้อยู่ในความพอดี ถึงจะไม่เป็นทุกข์

ตอนที่ ๑๕๓ #การไม่เคารพต่อครูบาอาจารย์

การไม่เคารพ ปรามาสต่อครูอาจารย์ จะมีผลอย่างไรพ่อแม่ให้ก่อเกิดชีวิต ครูอาจารย์ทำให้เกิดความรู้ เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา การลบหลู่ ปรามาส ไม่เคารพต่อครูอาจารย์ ย่อมเป็นสิ่งไม่ควรทำ จะเกิดผลกรรมที่ไม่ดีให้เราได้รับในภายหลัง จะมีลูกศิษย์ที่เราสอนสั่ง ปรามาส ลบหลู่ดูหมิ่น ดื้อรั้น ไม่เคารพต่อเรากลับเช่นเดียวกัน จึงเป็นสิ่งไม่ควรทำเลย

ตอนที่ ๑๕๔ #ไม่ให้ยึดติดครูบาอาจารย์

สอนไม่ให้ยึดติดในครูอาจารย์อย่างไร ไม่ให้ศิษย์เดินหลงทาง
ความยึดติดเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ การทำหน้าครูอาจารย์ เปรียบเป็นเช่นผู้บอกทาง บอกแล้วให้แล้วกันไป จะเดินตามทางที่บอกหรือไม่ ให้ปล่อยวาง การที่จะเดินสู่ความพ้นทุกข์ได้ ต้องรู้จักปล่อยวางในทุกสิ่ง แต่ต้องรู้จักหน้าที่ มีความกตัญญู กตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ถึงจะเป็นความดี เป็นคนดีที่สมบูรณ์ เป็นคนดีอย่าง

ตอนที่ ๑๕๕ #กายนี้มีแต่เรา

ตอนที่ ๑๕๖ #จิตนี้เป็นใคร ***

จิตนี้เป็นใครหนอ จิตนั้นละเป็นใครหนอ จิตของแม่เป็นใครหนอ จิตของพ่อเป็นใครหนอ จิตของญาติเป็นใครหนอ กายดับแต่ทำไมจิตถึงไม่ดับ จิตนี้วุ่นวายหนอ มีแต่ความวุ่นวายหนอ เมื่อมีจิตนี้จึงมีแต่ความวุ่นวาย ไม่มีจิตแล้วความวุ่นวายจึงจะไม่มี จงปล่อยวางจากจิตนี้เถิด ว่างจากจิตจึงจะไม่ทุกข์อีกต่อไป

ตอนที่ ๑๕๗ #ชีวิตเปรียบเหมือนใบไม้

ชีวิตเปรียบเช่นใบไม้ มีขึ้นมา ตั้งอยู่ เหลืองโรยราแล้วร่วงลงสู่ดิน ไม่แตกต่างชีวิตของคนเรา จึงไม่ควรสำคัญตน ยึดถือในตน ลุ่มหลงในสิ่งใด จนไม่รู้หน้าที่แห่งตน จนต้องตายกลับไปเช่นเดียวกับใบไม้

ตอนที่ ๑๕๘ #สิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทอง

เงินทองแม้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ในยุคสมัยนี้ก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าที่สุด เช่นกาลเวลาหากหมดไปแล้ว เอากลับคืนมาไม่ได้ เช่นเดียวกับชีวิตเสียไปเอาคืนมาไม่ได้ เงินทองหมดไปเดี๋ยวก็หาใหม่ได้ คุณงามความดี ความรัก ความเมตตา ความจริงใจ ความเข้าใจกัน เงินหาซื้อมาไม่ได้ และยังมีอีกเยอะแยะมากมาย ที่มีค่ามากกว่าเงินทอง ฉะนั้น จึงไม่ควรไปยึดติด ลุ่มหลง จนมองข้ามสิ่งอื่น ที่มีคุณค่ามากกว่าเงินทอง

ตอนที่ ๑๕๙ #ฝากความหวังไว้กับสิ่งใด

การฝากความรัก ความหวังไว้กับบุคคลผู้อื่น สิ่งอื่นภายนอก ต้องพบกับความผิดหวัง ในความไม่เที่ยงแท้ไม่จบไม่สิ้น จิตใจเราเอง ยังไว้ใจไม่ได้ บอกให้อย่ารักมันยังไปรัก บอกให้อย่าหลงมันก็ยังหลงหัวปักหัวปำ ร่างกายของเราบอกให้อย่าป่วยมันก็ยังป่วย บอกไม่ให้อย่าหิวมันก็ยังหิว จึงไม่ควรฝากความหวัง ความสุขกับสิ่งใดเลย จึงจะไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป

ตอนที่ ๑๖๐ #เลิกคิดมาก

หากมีปัญหาเข้าในชีวิต การมีสติ มีปัญญาเท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาได้ ความคิดไม่ใช่ปัญญา การคิดมากจึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งเหนื่อย ยิ่งคิดยิ่งสับสน ยิ่งคิดยิ่งมืดมน สติปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความสงบเท่านั้น จึงไม่ควรคิดมากเลย

แหล่งที่มา:
https://www.youtube.com/watch?v=XIEygaI86s8&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI&index=153

ตอนที่ ๑๖๑ #รากเหง้าของความคิด

ความคิดเป็นเหตุของความทุกข์ หยุดคิดจึงหยุดทุกข์ ความคิดทั้งหลายเกิดจากเชื้อแห่งความไม่รู้ ความไม่เข้าใจในความเป็นจริง จึงอยากให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เกิดความยึดติดในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ จึงเกิดการเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เป็นทุกข์ ดับเชื้อรากเหง้าของความคิดได้ ย่อมนำมาซึ่งความพ้นทุกข์

ตอนที่ ๑๖๒ #ทุกข์เพราะใครหนอ

ความทุกข์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาได้เพราะมีเรา มีเราจึงมีเขา มีเขาที่มากระทบเบียดเบียนเราให้เป็นทุกข์ จะดับทุกข์ต้องดับที่เรา ไม่มีเราจะไม่มีเขา ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

ตอนที่ ๑๖๓ #เหนื่อยและท้อหรือยัง

กาลเวลาเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา ชีวิตของเราก็เหมือนกาลเวลา เดินไปข้างหน้าไม่มีวันหยุด ดวงจิตเดินทางมานานเท่าไหร่แล้ว เหนื่อยบ้างกันหรือยัง ท้อกันบ้างหรือยัง จะเดินต่อไปอีกนานแค่ไหน ควรหยุดเดินซะบ้าง หาทางให้กับจิตดวงนี้ได้หยุดพัก จะได้พ้นจากความเหนื่อย ความท้อ จากการเดินทางอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตอนที่ ๑๖๔ #กิเลสคืออะไร

จิตนี้เป็นเมล็ด กิเลสนั้นคือสิ่งที่ทำให้เมล็ดเกิดขึ้นมาได้ กรรมจึงเป็นผลจากกิเลส กรรมเป็นเหตุให้มีเรา ถ้าดับกิเลสได้ก็จะไม่มีกรรม และไม่มีเราอีกต่อไป

ตอนที่ ๑๖๕ #ตัณหาคืออะไร

ความอยากคือตัณหา ไม่อยากก็เป็นตัณหา ให้พิจารณาว่าการที่จะทำสิ่งใด ยังไม่มีเหตุมีปัจจัยแต่อยากให้เกิดขึ้นมา ทำไปด้วยความยึดติดยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป ทำไปด้วยความไม่รู้ด้วยความลุ่มหลง ทำสิ่งใดเกินความพอดี จนเกิดการเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เป็นทุกข์ นี้แหละเขาเรียกว่าตัณหา

ตอนที่ ๑๖๖ #ใครหนอเลือกเส้นทางชีวิตให้กับเรา

เส้นทางชีวิตถูกกำหนดมาจากการกระทำ เลือกทำดีชีวิตก็จะไปในทางที่ดี เลือกที่จะทำชั่วชีวิตก็จะไปในทางที่ชั่ว กฎแห่งกรรมควบคุมดวงจิตทุกดวงที่ยังอยู่ในการเวียนวน

ตอนที่ ๑๖๗ #ชีวิตนี้แท้ที่จริงคืออะไร

ตอนที่ ๑๖๘ #ปล่อยวางให้ปล่อยแบบไหน

การปล่อยวาง หมายถึง การปล่อยที่จิต ฝึกฝนให้จิตมีพลังที่เข็มแข็ง ไม่ให้ยึดถือ แบกสิ่งใดเอาไว้ จนทำให้เป็นทุกข์ จะไม่ยึดติด ในสิ่งที่เปลี่ยนแปรผันไป จึงจะอยู่กับสิ่งทั้งหลายได้ โดยไม่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้ง เข้าใจในสรรพสิ่งตามความเป็นจริงแล้ว

ตอนที่ ๑๖๙ #โศกเศร้าเพราะอะไร

คนจะสุขหรือทุกข์ ไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอก ขึ้นอยู่กับจิตใจ จะวางได้มากน้อยขนาดไหน การไม่ยอมรับความเป็นจริง ในความไม่เที่ยงแท้ของธรรมชาติซึ่งมีการเกิดการดับ จึงไม่สามารถละ สามารถวางได้ จึงพบกับความโศกเศร้าเสียใจ

ตอนที่ ๑๗๐ #โลกแห่งความฝัน

การที่จมอยู่กับอดีต คิดฟุ้งไปอนาคต อยากให้เป็นเช่นนั้น อยากให้เป็นเช่นนี้ ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ยังติดอยู่ในสิ่งสมมติทั้งหลาย หลอกล่อให้ลุ่มหลงอยู่ ย่อมไม่แตกต่างกับผู้ที่หลับไหล นอนฝันไป ยังไม่ได้ตื่นขึ้นมาอยู่กับความเป็นจริง

youtube
https://www.youtube.com/watch?v=Ra76K_XkNPQ&index=165&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI

🍃✨”🙏”🌦️✨☘️©

ตอนที่ ๑๗๑ #สัญญาเช่าร่างกาย

ร่างกายเป็นสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมา ด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เราได้เซ็นสัญญากับธรรมชาติไว้ว่า จะมาอยู่บนโลกเป็นเวลานานเท่าใด มาเพื่อสร้างคุณความดี แต่เมื่อได้ร่างกายมาแล้ว กลับลุ่มหลงในโลก ลืมทำหน้าที่ ลืมในสัญญาที่ทำเอาไว้ ประมาทในการใช้ร่างกาย อาจจะต้องคืนก่อนเวลา หรือตามสัญญาที่ทำเอาไว้ เพราะร่างกายไม่ใช่ของเรา แค่เช่าเขามาชั่วคราว

ตอนที่ ๑๗๒ #สิ่งใดที่เป็นของเรา

มีสิ่งใดย่อมมีทุกข์เพราะสิ่งนั้น เมื่อมีเราจึงมีทุกข์เพราะมีเรา กิเลสตัณหาเป็นเหตุให้มีเรา ดับกิเลสตัณหาได้ จึงจะไม่มีการเกิด จึงจะไม่มีเราอีกต่อไป จิตจะได้คืนสู่อิสระเสรี ไม่อยู่ภายใต้กฎของกรรม ไม่อยู่ภายใต้ความไม่เที่ยงแท้ จิตจะได้พ้นจากความทุกข์ พบความความสุขอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๗๓ #ทุกข์กว้างใหญ่ขนาดไหน

ความทุกข์มีความกว้างยาวขนาดไหน แผ่คลุมขอบเขตถึงที่ใด ถ้าไปสุดขั้วโลกเหนือจะพ้นไหม หรือต้องไปอยู่ดาวดวงใด สวรรค์ที่ว่าไกลแสนไกล พ้นจากความทุกข์ได้หรือยัง

ตอนที่ ๑๗๔ #น้ำชาถ้วยหนึ่ง

น้ำชาด้วยหนึ่งยังให้คนเห็นต่าง ต้องมานั่งถกเถียงกัน การทำสิ่งใดขึ้นมานั้น ย่อมมีคนเห็นด้วยไม่เหมือนกัน การที่มัวสนใจผู้อื่น วุ่นวายกับผู้อื่น ย่อมไม่ทำให้ตนหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ จึงไม่ควรเสียเวลามานั่งถกเถียงในความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ตนเลย

ตอนที่ ๑๗๕ #ผู้รู้ตื่น

ผู้ที่ยังลุ่มหลงในโลก ยึดถือยึดติดในสิ่งใด อยากให้ได้มันมา จนเกิดการสร้างกรรมเบียดเบียนตน และผู้อื่นให้เป็นทุกข์ เปรียบได้กับผู้ที่นอนหลับฝันไป จะเป็นฝันดีหรือฝันร้าย ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกล้วนเป็นสิ่งสมมติ ไม่มีอะไรที่เป็นจริง มีขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไปทั้งหมด จึงไม่ควรที่จะลุ่มหลงในสิ่งใดอีกต่อไป จะได้เป็นผู้รู้ตื่น จากการหลับแล้วก็ฝันไป

ตอนที่ ๑๗๖ #เหมือนกันแต่แตกต่าง

เรียนอยู่ห้องเดียวกัน วิชาเดียวกัน แต่ความรู้ความเข้าใจนั้น ยังมีความแตกต่าง การที่ได้ฟังพระธรรมคำสอนไป มรรคผลที่ได้จึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนเดิมที่มีมา ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ มีความขยัน มีความอดทน และสติปัญญาที่มี ของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน

ตอนที่ ๑๗๗ #ปลูกต้นบุญต้นบารมี

าวสวนปลูกพืช หว่านเมล็ดพันธุ์ ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน ดูแลไม่ให้แมลงมากิน กว่าจะออกดอกออกหมากเป็นผล ต้องใช้ความขยันอดทนใช้เวลานาน ในการปลูกต้นบุญต้นบารมี เพื่อให้ได้มาซึ่งมรรคผล ก็เช่นเดียวกัน ต้องรักษาศีล ศึกษาธรรม เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จึงจะได้มาซึ่งมรรคผลนิพพาน

ตอนที่ ๑๗๘ #พุทธาภิเษกและสืบชะตาหลวง

การที่จะทำคุณงามความดี สามารถทำได้หลายอย่าง การมีงานพิธีขึ้นมา ก็เพื่อสมมติให้ได้สร้างความดี เพื่อทดสอบบารมีให้ภูมิจิตได้สูงขึ้น เป็นการขวนขวายทำความดี ปลูกพืชภายนอกให้ออกดอกออกผลเข้าสู่ภายในจิตใจ ผู้เข้าใจในสิ่งสมมติ จึงจะสามารถนำความดีเข้าสู่จิตใจได้

ตอนที่ ๑๗๙ #ธรรมะมีอยู่ทุกที่ไม่มีชนชั้น

บุคคลที่จะศึกษาธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่แบ่งแยกชนชั้น แบ่งหญิงหรือชาย แบ่งแยกเด็กหรือผู้ใหญ่ สูงหรือต่ำ เพราะธรรมะซ่อนอยู่ทุกที่ มีอยู่ในทุกสิ่ง จึงจะเป็นผู้สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมได้ เป็นผู้รู้แจ้งได้อย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๘๐ #พุทธโอวาทสมเด็จองค์ปฐม

ในโลกนี้ มีอยู่สองสิ่งที่ให้เราเลือก คือการทำความดี และการทำความชั่ว คนจะสูงจะต่ำได้ด้วย การกระทำความดีหรือกระทำความชั่ว ไม่ใช่จากสิ่งสมมติทั้งหลายในภายนอก การกระทำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้นำสิ่งสมมติทั้งหลาย มาสร้างความดี จนกว่าสิ่งสมมติดีเหล่านั้นเต็มแล้ว ค่อยปล่อยวางในสิ่งสมมติ เพื่อจะได้หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน

ตอนที่ ๑๘๑ #ตราบใดที่มีกาย

กายนี้มีสิ่งสกปรก จิตใจนี้มีกิเลสตัณหา ชีวิตนี้มีแต่ปัญหา ธรรมชาติเป็นเช่นนั้น ตราบใดที่มีร่างกาย ต้องอาบน้ำตลอดไป จิตใจนี้ชำระครั้งเดียวไม่จบ การทำคุณความดี ต้องทำตลอดไป จนกว่าจะชำระจิตใจให้หมดจากกิเลสตัณหา จึงจะดับการเกิดได้ เป็นผู้สำเร็จกิจ จิตจึงจะพักผ่อนได้ตลอดไป

พิธีเบิกพระเนตรสมเด็จองค์ปฐม

ตอนที่ ๑๘๒ ยาของพระพุทธเจ้า
วิดีโอ: https://www.youtube.com/watch?v=lg4bco2nlSo&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI&index=181

ตอนที่ ๑๘๓ #สร้างความดีจากสิ่งสมมติ

การมีสิ่งสมมติทั้งหลาย ที่เป็นเราเป็นของเรา นำมาสร้างความดี ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น เพื่อเป็นการสละ ละวางเสียซึ่งความยึดติด ในสิ่งที่มี ที่เป็น สามารถนำสิ่งสมมติ มาทำให้เกิดวิมุตติหลุดพ้นแก่ตนได้ จึงเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๘๔ #ชายผู้ที่อยากได้เพชร

ชายคนหนึ่งได้ยินว่าเพชรนั้นเลอค่า จึงอยากได้มาครอบครอง ต้องอดทน ดิ้นรนขวนขวาย สะสมทรัพย์สินเงินทอง ยอมแลกกับทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา การที่เราได้ยินว่าองค์อรหันต์เป็นสิ่งมีค่า ถ้าปรารถนาเป็นองค์อรหันต์ ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ อดทน ขวนขวายยอมแลกกับทุกอย่าง เช่นเดียวกับชายผู้ที่ต้องการเพชร ย่อมมีองค์อรหันต์เกิดขึ้นสักวัน

ตอนที่ ๑๘๕ #ปลูกต้นไม้

ปลูกต้นไม้ไม่ใช่ปลูกแล้ว จะโตเลยทันที การสร้างความดีไม่ใช่จะเห็นผล ให้ได้รับทันทีมากมายมหาศาล ต้องใช้กาลเวลา ให้ดูแลรักษาทำหน้าที่ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเหตุถึงปัจจัย ก็จะได้รับผลของความดีที่ได้ทำไว้เอง

ตอนที่ ๑๘๖ #ผักหนึ่งมัด

หลังคาบ้านหนึ่งหลัง ถ้ามีรูรั่วที่เล็กน้อย อาจจะทำให้บ้านคุ้มแดดคุ้มฝนไม่ได้ ผักหนึ่งมัดช่วยให้อิ่มหนึ่งหรือสองมื้อ จึงทำให้ชีวิตที่สืบต่อไปได้ จึงไม่ควรมองข้ามความดีที่เล็กน้อย ซึ่งจะทำให้เป็นความดีที่สมบูรณ์ จึงจะทำให้ก้าวข้ามวัฏสงสารไปได้

ตอนที่ ๑๘๗ #สิ่งที่ถูกใจไม่ถูกใจ

มีตาจึงทำให้มองเห็น มีหูจึงทำให้ได้ยิน จึงมีสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ทำให้เเป็นทุกข์เพราะสิ่งที่เห็นและได้ยิน การฝึกฝนจิตใจให้มีพลังที่เข้มแข็ง เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักได้ยิน ไม่เห็นความแตกต่าง ในสิ่งที่เห็นในสิ่งที่ได้ยิน ด้วยการที่มีศีล ธรรม สมาธิ ปัญญา จึงจะเป็นผู้พ้นจากความทุกข์

ตอนที่ ๑๘๘ #ไฟแห่งกาลเวลา

วัฏสงสารเปรียบเหมือนบ้านหลังใหญ่ ที่มีไฟจากกาลเวลาแผดเผา ให้เสื่อมให้สลายไปอยู่ตลอดเวลา เราจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม ก็จะมีไฟจากกาลเวลาหลอมทุกสิ่งทุกอย่าง ให้มอดไหม้หายไปตามกาลเวลา แล้วเราจะเอาอะไรมายึดถือ ว่าเป็นเราเป็นของเรา ในเมือสรรพสิ่งล้วน มลายหายไปพร้อมกับกาลเวลา

ตอนที่ ๑๘๙ #ทำปัจจุบันให้ดีก็พอ

ธรรมชาติของจิต สิ่งใดที่ผ่านไปแล้ว ชอบเก็บเอามาคิดให้ว้าวุ่น สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ชอบไปปรุงแต่งอยากให้เป็นเช่นนั้น เช่นนี้ จนจิตใจไม่สงบ ทำให้เป็นทุกข์อยู่ภายใน การฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบัน ระลึกรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้ ไม่ยึดถือในสิ่งใด จึงจะพบความสงบสุขอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๙๐ #คุณค่าของชีวิต

ทุกดวงจิตที่เกิดมา ไม่ว่าจะอยู่ภูมิใด ย่อมรู้เข้าใจเห็นคุณค่าในชีวิตตนเอง การที่เราเกิดอยู่ในภูมิที่สูงกว่า แล้วประมาทไม่เห็นคุณค่าของดวงจิตอื่น สร้างกรรมเบียดเบียนขึ้นมา ย่อมทำให้คุณค่าชีวิตของเราตกต่ำลงไป ด้วยการกระทำของตนเอง เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่า

พิธีเบิกพระเนตรสมเด็จองค์ปฐม

วิดีโอ: https://www.youtube.com/watch?v=rfqvnTYplK8&index=180&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI

ตอนที่ ๑๙๑ #สะพานแก้วพระนิพพาน

เรานั้นหรือคือใคร สิ่งใดทำให้เกิด เหตุที่เกิดจากสิ่งใด ทำให้แจ้งในสิ่งนั้น ดับสิ่งนั้นให้ได้ สะพานแก้วจากพระนิพพาน จะทอดให้เราข้ามวัฏสงสาร หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เพราะเป็นบุคคลผู้รู้แจ้งโลก ดับการเกิดได้แล้ว

ตอนที่ ๑๙๒ #เมตตาสงสารแห่งพุทธะ

พระยาธรรมิกราชได้เข้าเฝ้า ทูลถามพุทธองค์ที่ถ้ำวัวแดง เกี่ยวกับความเมตตา ซึ่งพระองค์ได้ชี้แนะ ให้มีเมตตาต้องมีอุเบกขา สงสารต้องมีขอบเขต มีปัญญาอยู่บนความถูกต้อง ต้องข้ามพ้นความสงสารที่ไม่ถูกต้อง อย่างเข้มแข็งเด็ดขาด จึงจะเป็นความเมตตาสงสารแห่งพุทธะอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๙๓ #เปิดตำนานพระยาธรรมิกราช

พระยาธรรมิกราชเล่าตำนานการก่อเกิด มีที่มาอย่างไร ให้ผู้ปฏิบัติธรรมที่สวนธรรมิกราชฟัง จึงนำมาเผยแผ่ให้ญาติบุญทั้งหลายได้ฟังเช่นกัน

ตอนที่ ๑๙๔ #หล่อพระภายนอกสร้างพระภายใน

การทำความดีภายนอก ด้วยการประกอบขึ้นด้วยหินดินทรายเป็นองค์พระ ที่มีความขยัน อดทน เสียสละ สมาธิ สติปัญญาทำให้เกิดองค์พระที่สวยงาม แต่อย่าลืมสร้างให้มีองค์พระภายในจิตใจ ให้มีความสวยสง่า สว่างรุ่งเรืองด้วย จึงจะเป็นการสร้างพระอย่างแท้จริง

ตอนที่ ๑๙๕ #คำสอนหลวงพ่อสมปรารถนา

หลวงพ่อสมปรารถนาเป็นพระนามขององค์พระที่ประดิษฐานอยู่ที่สวนธรรมิกราช ท่านได้ประทานคำสอนให้ญาติบุญทั้งหลายได้ฟัง ในวันเบิกเนตร จึงได้นำมาแบ่งปันให้ญาติธรรมได้ฟังกัน

ตอนที่ ๑๙๖ #คำสอนในคืนพุทธาภิเษก

ความจริงของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนเกิดจากกรรม จากการกระทำของตนเอง ทำให้เกิดความแตกต่าง ในฐานะ รูปร่างหน้าตา องค์ประกอบทั้งภายใน ภายนอกร่างกายและจิตใจ แต่มีความเหมือนในความทุกข์ ในการเวียนเกิดและเวียนตาย จนกว่าจะแสวงหาหนทางและดับการเกิดได้ จึงจะเป็นผู้ที่พ้นจากความทุกข์

ตอนที่ ๑๙๗ #ธรรมชาติก็เป็นเช่นนั้น

สรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไป พระจันทร์มีเสี้ยวมีเต็มดวง มีความสงบเป็นบางครั้ง มีวุ่นวายเป็นบางคราว บางวันมีปัญหามากมาย บางวันสุขสบาย ชีวิตมีขึ้นมีลง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง เมื่อเห็นเป็นธรรมดา รู้จักปล่อยวาง ก็จะพ้นจากความทุกข์

ตอนที่ ๑๙๘ #รหัสประตูพระนิพพาน

ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในวัฏสงสาร ยังเวียนตายเวียนเกิด ต้องตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ได้รับความทุกข์ไม่จบสิ้น ตราบจนกว่า จะมีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา นำพระธรรมคำสอนมาชี้ทางบอกทาง ไขประตูแห่งพระนิพพาน เปิดประตูออกจากความทุกข์ ให้ดวงจิตทั้งหลายได้หลุดพ้นไปเช่นเดียวกัน

ตอนที่ ๑๙๙ #จงอยู่กับปัจจุบัน

สิ่งใดดีสิ่งไหนชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้ เกิดจากการที่จิตไม่มีพลังมากพอ จึงไม่สามารถอดทนต่อกิเลสตัณหา อดทนต่อสิ่งที่มาล่อหลอก ให้เราทำในสิ่งที่ไม่ดีได้ จนกว่าเราจะฝึกฝนจิตให้มีพลังสมาธิตั้งมั่น จึงจะสามารถดับความยึดติด ความลุ่มหลงในสิ่งทั้งหลายนั้นได้ ฉะนั้น จงฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบัน

ตอนที่ ๒๐๐ #ใจคืออะไร

ผลจากการกระทำ กรรมที่ได้สร้างก่อ ทำให้จิตได้กายมาครอง มีใจเป็นผู้ประสานเชื่อมต่อ ให้รับรู้สภาวธรรมระหว่างจิตและกาย ถ้ากายดับไป ใจก็ดับไปด้วย แต่จิตต้องไปหากายใหม่ จนกว่าจิตจะเข้าใจความเป็นจริง ตัดความยึดถือกายทั้งหมดนั้นได้ จิตจะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

วิดีโอ: https://www.youtube.com/watch?v=yCBH3aWagrs&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI&index=199

ตอนที่ ๒๐๑ #ผู้เดินตามรอยเทวทัต

คนเราเกิดมา มีทางสองเส้นให้เลือกเดิน เลือกที่จะเดินตามพระพุทธเจ้าให้ทำความดี พิจารณาดูตนเอง ว่ามีสิ่งใดที่ยังบกพร่องอยู่ ในการสร้างความดี เลือกที่จะเดินตามพระเทวทัต ให้ทำความชั่ว เพ่งโทษผู้อื่น เป็นบันไดให้ผู้ที่สร้างความดีเหยียบย่ำขึ้นไป เพราะเลือกเป็นมารในการทดสอบความดีของผู้อื่น ฉะนั้นชอบแบบไหนให้ทำตามที่ใจปรารถนาเถิด

ตอนที่ ๒๐๒ #เราเป็นเพียงผู้บอกทาง

ปากก็ปากเขา มือก็มือเขา เท้าก็เท้าเขา เราจะบอกให้เขาพูด ให้เขาทำอย่างที่เราต้องการจะได้หรือ ในเมื่อเราคิดอีกอย่าง เราก็ยังทำอีกอย่าง ให้บอกให้สอนตัวเองทำความดีก็พอ เมื่อเราทำดีแล้ว ก็ค่อยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้บอกทาง เพราะเราไม่สามารถสั่งให้ใครเป็นไปตามใจของเรา

ตอนที่ ๒๐๓ #รอก่อน

มนุษย์เรานั้น มีข้ออ้างต่างๆมากมาย ผัดวันประกันพรุ่ง ในการสร้างความดี รอให้มีสิ่งนั้นก่อน รอให้มีสิ่งนี้ก่อน รอให้โตก่อน รอให้เรียนจบก่อน รอให้ทำงานก่อน รอให้เกษียณก่อน สุดท้ายเลยตายก่อน จึงพลาดโอกาสสร้างความดี ไม่มีบุญกุศลมาค้ำหนุน ดวงจิตจึงตกต่ำลงไป เพราะคำว่า รอก่อน

ตอนที่ ๒๐๔ #สมาธิทำให้เกิดปัญญา

ดวงจิตที่บริสุทธิ์ ถูกความรัก โลภ โกรธ หลงครอบจิตเอาไว้ มีกายครอบอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าตนเป็นใคร จนกว่าจะทำให้จิตอยู่นิ่งๆ เติมพลังสมาธิเข้าไป จิตจะสว่าง เกิดสติปัญญา รู้แจ้งตามความเป็นจริง ด้วยตัวของเราเอง

ตอนที่ ๒๐๕ #การชนะกิเลสตัณหา

บุคคลใดที่ต้องการดับความทุกข์ ต้องเอาชนะกิเลสตัณหาให้ได้ ซึ่งจะต้องรักษาศีลห้าให้ได้ เพราะศีลข้อที่หนึ่ง เว้นจากการฆ่า จะละในความโกรธ ศีลข้อที่สอง เว้นลักทรัพย์ จะละในความโลภ ศีลข้อที่สาม เว้นจากการผิดประเวณี จะละความรัก ศีลข้อที่สี่ เว้นจากการพูดปด และศีลข้อห้า เว้นจากดื่มสุราเมรัย จะละในความหลง เมื่อรักษาศีลห้าได้ ชัยชนะต่อกิเลสตัณหา จะปรากฏไม่เกินเจ็ดชาติอย่างเที่ยงแท้

ตอนที่ ๒๐๖ #มั่นคง

รถเรือ บ้านช่อง ต้องสร้างให้แข็งแรงมั่นคง เพื่อปลอดภัยในร่างกาย การทำความดีเพื่อหวังพระนิพพาน ก็ต้องมั่นคงในศีล มั่นคงในธรรม มั่นคงในสมาธิ มั่นคงในปัญญาอยู่เสมอ จึงจะมีสิ่งนำพาดวงจิตให้ไปสู่ความพ้นทุกข์ อย่างมั่นคง

ตอนที่ ๒๐๗ #เรือสายพระนิพพาน

เรือสายพระนิพพาน ผู้ที่ปรารถนาจะอาศัยเรือลำนี้ไป ต้องรักษาศีลให้ได้ เพื่อไม่ให้มีเชือกผูกมัดรัดเรือเอาไว้ เป็นบ่วงกรรมคอยขวางขัดของการเดินทาง จะต้องมีธรรมคำสอนของผู้ไปถึงก่อน เป็นแผนที่การบอกทาง จะต้องมีสมาธิเป็นพลัง และแสงสว่างของการเดินเรือไป ต้องมีสติปัญญารู้จักการแก้ไขปัญหาในการเดินทาง จึงจะนำเรือเข้าถึงฝั่ง ไม่อับปางก่อนถึงพระนิพพาน

ตอนที่ ๒๐๘ #โรคที่หนีไม่พ้น

เชื้อรัก โลภ โกรธ และหลง เป็นเชื้อโรคที่คอยทำให้ดวงจิต ต้องป่วยเป็นโรคเกิด โรคแก่ โรคเจ็บ และโรคตาย ไม่มีใครหนีพ้น ตราบใดที่ยังไม่ทำลายเชื้อโรคเหล่านี้ ให้สิ้นไปจากจิตใจ ให้ได้รับความหลุดพ้น เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทุกพระองค์ ที่ท่านได้หายขาดจากโรคเหล่านี้แล้ว

ตอนที่ ๒๐๙ #ผู้พิพากษา

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ มีสิ่งปกปิดซ่อนเร้นเอาไว้มากมาย ทำให้เราไม่รู้ ไม่เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้น ไม่ควรไปพิพากษาใคร ตัดสินสิ่งใดว่าจริง ไม่จริง ตราบใดที่เรา ยังไม่รู้แจ้งโลกแจ้งจักรวาล จะทำให้เกิดบาปกรรมและเสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์สิ่งใดกับเราเลย

ตอนที่ ๒๑๐ #อย่ากังวลจนเกินไป

การจะทำสิ่งใดก็ตาม ให้ทำจิตให้เป็นกลาง ทำใจให้ว่าง ไม่ต้องคิดมากจนเกินไป ทำจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อให้เกิดสติและปัญญา จึงจะเข้าใจปัญหา รู้ถึงความเป็นจริง งานจึงจะสำเร็จ สามารถผ่านอุปสรรคปัญหา ด้วยการระลึกรู้ ทำในปัจจุบันให้ดีก็พอ

วิดีโอ: https://www.youtube.com/watch?v=GFPhYeKWiIY&list=PL7wm2JTW8HrLuoImr_PvtIfMIy0XJfnNI&index=209

ตอนที่ ๒๑๑ #ยกจิตให้อยู่เหนือสมมุติ

ความจริงของชีวิต ถูกปกปิดความจริงเอาไว้ มีสิ่งที่มาล่อหลอก ลวงตาลวงใจ มีสิ่งสมมุติทั้งหลายให้ศึกษาและจดจำ มีสิ่งที่ทำให้เป็นสุขและรับทุกข์ จากกฎของกรรม ยกจิตขึ้นไป ด้วยการไม่สร้างความชั่วใหม่ อดทนเอาไว้ในสิ่งไม่ดีทั้งหลายที่เข้ามา ทำความดียิ่งๆขึ้นไป จิตจะได้อยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือสมมุติทั้งปวง

ตอนที่ ๒๑๒ #แค่เป็นบททดสอบ

การเดินทางของชีวิต ย่อมมีสิ่งเป็นอุปสรรคปัญหา มีความดีและงดงาม เข้ามาในชีวิตเสมอ ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ล้วนมีสิ่งที่แอบแฝงซ่อนอยู่ในนั้น เพื่อทดสอบความดี คัดกรองความดีออกจากความชั่วเท่านั้น ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จงรักษาความดีให้มั่นคง จึงจะทำให้เรานั้นผ่านบททดสอบ จะได้ไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป

ตอนที่ ๒๑๓ #ความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่ในเรา

ความเป็นจริงสิ่งที่สมมติเป็นเรานั้น มีกายและจิต กายซ่อนธาตุดินน้ำลมไฟ ภาระหน้าที่ในการดูแลกาย ความทุกข์เสียดแทงในกาย มีความต้องการ มีความรัก โลภ โกรธ หลง มีความรู้สึกสุขทุกข์ ที่ซ่อนอยู่ในจิต ยกจิตให้อยู่เหนือ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความต้องการ ความรักโลภโกรธหลง สลายความยึดติดในกายได้ ก็จะพบความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่ในเรา

สายปฏิบัติธรรม สัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร พระยาธรรมิกราชเป็นใคร
พุทธอุทยานภูสวรรค์ ได้ถูกจัดวางเอาไว้ เป็นสถานที่เจียระไนดวงจิต ในทุกระดับชั้น มีเครื่องขัดเกลา ชำระกิเลส ตัณหา แนวทางปฏิบัติ สายสัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะ หลักสูตร ค้นหาตัวตน เพื่อจะได้รู้หน้าที่ของตน ให้ทำหน้าที่ให้สำเร็จ เสร็จกิจ ก่อนที่จะหมดเวลา เพื่อดับการเกิด จะได้พ้นจากความทุกข์

ที่มา: https://www.google.com/url?sa=t&source=web&rct=j&url=https://sites.google.com/site/prayadham/buddha-dhamma-1&ved=2ahUKEwiOnP-5x93pAhVEJHIKHVRgDjIQFjAEegQIARAB&usg=AOvVaw2SVLa-EW_5R75jC4oCtlsV

เผยแพร่: สุริยะ มหาสติ ( พร โอษฐ์พิมพ์ ) PhonChai AotPhim

ขอบคุณ: สายปฏิบัติธรรม สัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะ

Featured

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : “พลังรัก” พลังแห่งความสุขสงบเย็น


ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : “พลังรัก” พลังแห่งความสุขสงบเย็น
เผยแพร่: 3 เม.ย. 2560 11:37   โดย: MGR Online
มีคำกล่าวว่า

“บ้านใดมีจิตตภาวนา มีเมตตา
เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ได้มาอาศัย
ย่อมเกิดความร่มเย็นเป็นสุข
จะมีเทพเทวดามาอยู่ ป้องกันภัย
ให้ความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เร่าร้อนจิตใจ
ถึงแม้บ้านเรือนนั้นจะมุงด้วยหลังคาแฝกก็ตาม
ก็จะมีแต่ความสุข หามีความเดือนร้อนไม่…”

ความสุข สงบ เย็น ไม่อาจไปถึงได้ด้วยคำตัดสินถูกผิดแต่ไปถึงได้ด้วยพลังแห่งรักอันไร้เงื่อนไข ภาษาธรรมะเรียกว่า“เมตตา”บ้านเรือนใดครอบครัวใด คอยตั้งแง่จ้องแต่จะจับผิดกันรับรองได้ว่า บ้านนั้นครอบครัวนั้น อยู่กันไม่ยืดปราศจากความสุขเพราะแท้จริงแล้ว ภาวะความสุขสงบเย็นนั้นมีแต่ความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อกันเท่านั้น ที่นำเราทะยานไปสู่จุดนั้นได้

เหตุที่โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเร่าร้อนสับสนวุ่นวายเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ก็เพราะมนุษย์ขาดความรักความเมตตาต่อกัน ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเราไม่ได้มาที่นี่เพื่อความถูกต้อง แต่เรามาที่นี่เพื่อความสุขสงบสันติ หรือที่พระพุทธองค์เรียกว่า “นิพพาน”

และ​เมื่อใดที่หัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตามันจะเอ่อล้นออกมาเป็นการให้อภัย ปล่อยวาง อโหสิกรรม แม้ว่าผู้นั้นจะคิดร้ายต่อเราด้วยพลังงานลบอย่างไรก็ตาม แต่พลังงานลบเหล่านั้นไม่สามารถทำอันตรายเราได้ เหมือนผู้ก่อการร้ายที่เอาระเบิดไปขว้างใส่พระพุทธรูป แต่ปรากฏว่าระเบิดด้าน เหมือนของขวัญที่ถูกตีกลับส่งคืนเจ้าของ เพราะปลายทางไม่มีผู้รับ หรือเหมือนการตบมือข้างเดียว ซึ่งตบอย่างไรก็ไม่ดัง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ในส่วนลึกของจิตใจเรามันต้องเอ่อล้นเต็มไปด้วยความรักความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว

เช่นเดียวกันหากภายในตัวเราปราศจากความรักความเมตตา เราก็จะไม่สามารถส่งมอบความรักความเมตตาออกมาให้กับใครได้ เพราะความรักความเมตตามันไม่ได้มีอยู่ภายในตัวเรา หรือมีแต่ก็น้อยเกินไป ดังนั้น หลายครั้งที่บางคนบ่นว่า แผ่เมตตาก็แล้ว ให้ความรักก็แล้ว แต่ทำไมยังโดนหมากัด แมวข่วน คนข้างบ้านรุมประณาม อะไรอีกสารพัด นั่นก็เพราะว่าภายในตัวยังไม่มีความรักความเมตตาเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงอยู่ในจิตใจ

สมัยที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำแห่งวัดท่าซุงยังมีชีวิตอยู่ เคยมีพระบวชใหม่เข้าไปถามท่านว่า

“เวลาเข้าป่าไปเจอเสือโคร่งแล้วแผ่เมตตาให้เสือจะกินไหม?”

หลวงพ่อตอบว่า “ถ้ามีเมตตาแล้วคุณแผ่เมตตาให้ เสือออกไปเสือไม่กิน แต่ถ้าเมื่อใดที่คุณไม่มีเมตตา แล้วไปแผ่ให้ เสือกินคุณทันที เพราะมันไม่ได้รับเมตตา”

เมตตา คือ พลังรัก เป็นพลังความรักที่บริสุทธิ์อยู่เหนือเงื่อนไขข้อจำกัดทางด้านเนื้อหนัง เป็นความรัก ความปรารถนาที่จะให้คนอื่นได้รับประโยชน์และมีความสุข มันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการให้อภัยเป็นทาน สังเกตได้จากเครื่องชี้วัด คนที่มีเมตตาอยู่ในตัวมากๆ สัตว์เดรัจฉานมักจะเข้าใกล้ เทวดาและมนุษย์จะชอบอยู่ใกล้ ใครๆก็อยากไปหา ลองนึกถึงพระป่าบางรูปผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แค่เข้าไปอยู่ใกล้ท่าน ไม่จำเป็นต้องพูดคุยอะไรด้วยเลยเราก็จะรู้สึกได้ถึงความสุขสงบเย็นที่แผ่ออกมาจากตัวท่านพระที่มีคุณธรรมแบบนี้เรารู้กันดีว่า “เมตตาท่านสูง”

ในต้นพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพเพื่อนภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้เข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสว่า “นั่นเป็นเพราะภิกษุรูปนั้นคงมิได้แผ่เมตตาจิตให้กับพญางูทั้ง๔ตระกูลถ้าภิกษุนั้นแผ่เมตตาจิตให้กับพญางูทั้งสี่ตระกูลนั้นเธอก็จะไม่ถูกงูกัดถึงแก่ความตาย”

เราทุกคนสามารถเจริญเมตตาให้เกิดมีขึ้นในตัวเองได้ด้วยวิธีปล่อยวางอโหสิกรรม ไม่ผูกโกรธไม่จองเวร พร้อมที่จะให้อภัย ใครเขาทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ ใครเขาแกล้งให้เจ็บช้ำ เราก็ให้อภัยช่างมันเถอะๆอโหสิกรรมให้กัน

ฝึกให้อภัย อโหสิกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ สั่งสมมากเข้าๆ อีกหน่อยระดับพลังงานความรักความเมตตาในตัวเราจะเพิ่มสูงขึ้นโดยที่เราสามารุรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ถ้ามีเมตตาจริงต้องไม่โกรธไม่เบื่อหน่ายไม่หงุดหงิดใครทำได้เช่นนี้แสดงว่าในจิตวิญญาณนั้นมีเมตตาสั่งสมอยู่ถึงตรงนี้เมื่อเราแผ่เมตตาออกไป สรรพสัตว์ก็จะรับรู้ได้ และการแผ่เมตตาหรือจะอธิษฐานอะไรก็แล้วแต่ มันจะบังเกิดผลมีอานุภาพมาก

ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในชาตินั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นปลาช่อนอาศัยในบึงใหญ่ อยู่มาปีหนึ่งเกิดภาวะแห้งแล้งฝนไม่ตกทำให้น้ำในบึงแห้งขอด ปลาก็เลยมารวมกันในแอ่งเล็กๆ ที่ตื้นเขิน เป็นเหตุให้ถูกพวกนกกระยางนกกา นกชนิดอื่นๆจับกินได้อย่างง่ายดาย ปลาเล็กปลาน้อยไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยพากันไปหาปลาช่อนตัวใหญ่ที่อยู่ใต้โคลนไปบอกปลาช่อนให้ช่วยด้วยเถอะ ตอนนี้พวกเราถูกนกกาจับกินจะหมดแล้ว

ปลาช่อนเกิดสงสารแต่ตัวเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่เห็นว่าเพื่อนปลาด้วยกันมาขอร้องให้ช่วยก็จะลองดู จึงโผล่จากดินโคลนขึ้นมาแล้วพูดขึ้นว่า

“ท่านเทวดาผู้บันดาลฝนข้าพเจ้าแม้จะเกิดในตระกูลของสัตว์เดรัจฉาน จำเป็นต้องกินสัตว์เล็กสัตว์น้อยเป็นอาหารแต่ข้าพเจ้านั้นมีเมตตาต่อพวกสัตว์เหล่านี้จึงงดเว้นไม่กิน จะกินก็แต่พวกพืชพวกสาหร่าย นี่คือสัจจะความจริงที่ข้าพเจ้าถือปฏิบัติขออ้างเอาสัจจะนี้อธิษฐาน ขอให้ท่านเทวดาจงบันดาลฟ้าร้องฝนตก แล้วทำให้พวกเรารอดพ้นจากการถูกพวกนกกาเบียดเบียนด้วยเถิด”

เท่านั้นแหละเทวดาร้อนรนทนเฉยอยู่ไม่ได้ จึงบันดาลให้เกิดฟ้าร้องฝนตกใหญ่ลงมามากขึ้นๆ บึงใหญ่ก็เต็มไปด้วยน้ำ ปลาเล็กปลาน้อยก็รอดพ้นอันตรายจากนกกา

จับคติเอาประโยชน์จากชาดกเรื่องนี้ “เพราะปลาช่อนมีเมตตา จึงสามารถอ้างเอาเมตตามาเป็นสัจจะในการอธิษฐาน แล้วก็อธิษฐานขอฝนได้สำเร็จ”

หรือแม้แต่พระสุวรรณสามโพธิสัตว์ ชาดกในสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าชาตินั้น พระสุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมีแม้จะโดนลูกศรอาบยาพิษยิงเสียบอก แต่ท่านก็ไม่โกรธคนยิง ในที่สุดด้วยอานุภาพแห่งเมตตาบารมี ก็ทำให้พระสุวรรณสามฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย

เหตุนี้เองพระพุทธเจ้าจึงตรัสแนะนำให้เราทั้งหลายเจริญเมตตา แผ่เมตตา ให้กับสรรพสัตว์เป็นประจำ ทำบ่อยๆ สะสมเข้าไว้มากๆ เพราะเหล่าสรรพสัตว์จะรับรู้ได้ถึงความสุขสงบเย็นที่เราแผ่ออกไป จำไว้ว่า…

“การทำผิดเป็นเรื่องของมนุษย์​การให้อภัยเป็นเรื่องของเทวดา
โลกนี้ไม่มีใครไม่เคยทำผิด
และก็ไม่มีใครชั่วเกินจะให้อภัย”

  • (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 196 เมษายน 2560 โดย ทาสโพธิญาณ)

แหล่งข้อมูล:
https://mgronline.com/dhamma/detail/9600000033707

https://wordpress.com/read

Featured

พระกฤษณะเป็น อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์


พระกฤษณะเป็น อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์

พระกฤษณะเป็น อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ในคัมภีร์ปุราณะ มหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ และตำนานเก่าต่างๆ ของอินเดีย รวมถึงคัมภีร์ทางศาสนาฮินดูอื่นๆ ได้บันทึกและกล่าวถึงไว้ว่า พระวิษณุเทพได้อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่เหล่ามวลมนุษย์ทั่วไป ในช่วงเหตุการณ์โลกเกิดกลียุคและเกิดความไม่สงบสุขจากเหล่าอสูร จึงทรงอวตาลลงมาในปางต่างๆ ซึ่งปางพระกฤษณะเทพ คือปางที่ 8 ในการอวตาร10 ปาง ของพระวิษณุเทพ นั่นเอง ลัทธิไวษณพนิกาย กล่าวไว้ว่าพระกฤษณะเกิดมาเพื่อทำลายอสูร ชื่อกังสะ ซึ่งเป็นลุงของพระกฤษณะเอง อสูรกังสะตนนี้ปลอมตัวมาเป็นกษัตริย์นามว่า อุคราเสน แห่งเมืองมถุรา และได้ใช้อำนาจแย่งชิงมเหสีจากกษัตริย์ (องค์จริง) มาโดยมิชอบ และมเหสีก็ทรงไม่ทราบว่าเป็นอสูรที่แปลงกายมาเป็นสวามีของตนอสูรกังสะ เมื่อขึ้นครองเมืองก็สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป ต่อมาเมื่อพระวิษณุเทพทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงทรงอวตารมาในปางพระกฤษณะเพื่อปราบอสูรกังสะตนนี้

พระกฤษณะนั้นเป็นบุตรของ พระวสุเทพ(โอรสท้าวศูรราช)และนางเทวกี (บุตรีท้าวอุคระเสน) ในนครมถุรา เมื่อหมดสมัยของท้าวศูรราชท้าวอุคระเสนก็ปกครองเมืองมถุราต่อ แต่พญากงส์ บุตรของท้าวอุคระเสน ได้เป็นกบฏ ถอดท้าวอุคระเสนแล้วขึ้นปกครองเสียเอง ครั้งเมื่อนางเทวกีตั้งครรภ์มีโหรทำนายว่า ทารกในครรภ์นั้น จะเป็นผู้วิเศษมาเกิด พญากงส์จึงจับนางเทวกีและพระวสุเทพขังเอาไว้ เมื่อครบกำหนดคลอดก็ให้ฆ่าทารกเสีย ทำเช่นนี้อยู่ 6 ครั้ง จนถึงครั้งที่8 เทวดาได้ย้าย ทารกไปไว้ในครรภ์ นางโหริณีมเหสีฝ่ายซ้ายของพระวสุเทพ ทารกนี้มีนามว่า พระ กฤษณะ มีกายสีดำ มีลักษณะของมหาบุรุษเพียบพร้อม พระวสุเทพจึงนำกุมารนี้ไปฝากโคบาล( ผู้เลี้ยงวัว ทำปศุสัตว์ )ชื่อนันทะ และนางยโศธา แล้วเอาทารกของนาง ยโศธาเปลี่ยนตัวแทนแต่พญากงส์ทราบเข้าจึงสั่งให้ฆ่าทารกเสียทั้งหมดแล้วให้ราชบุรุษจับตัวพระกฤษณะมาให้ได้

นันทะและนางยโศธาจึงพาพระกฤษณะ ไปอยู่ที่ตำบล พฤนทาพน พระกฤษณะจึงเติบโตท่ามกลางหมู่โคบาล และให้ความอนุเคราะห์เหล่าโคบาลนี้ ระหว่างนั้นได้แสดงปาฏิหารย์มากมาย อย่างเช่น ยกภูเขาโควรรธนะ จนสามารถมีชัยเหนือพระอินทร์ จนได้ชื่อว่า อุเปนทร = ดีกว่าพระอินทร์ รวมถึง ปราบพญานาค กาลียะ ฯลฯ ญากงส์พยายามที่จะสังหาร พระกฤษณะหลายครั้ง ในที่สุดพญากงส์เชิญให้ไปเล่นสรรพกิฬาในเมืองมถุรา พญากงส์ได้วางตัวมวยปล้ำที่เก่งที่สุดเอาไว้เพื่อกำจัดพระกฤษณะ โดยเฉพาะ แต่พระกฤษณะสามารถเอาชนะได้และได้ฆ่าพญากงส์ตาย จากนั้นจึงพระเจ้าอุคระเสนขึ้นครองเมือง
พิธีการบูชา ชาวฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย เชื่อว่าพระกฤษณะเทพ คือเทพแห่งความรักเสียงเพลงและการรำฟ้อน พิธีการบูชา ผู้นับถือจะบูชาพระกฤษณะเทพโดยจัดให้มีการแสดงระบำราศสีลา ถวายพระองค์ ซึ่งระบำราศสีลาเป็นการ ถ่ายทอดมาจากช่วงวัยหนุ่มของพระกฤษณะ ในขณะเต้นรำกลางแสงจันทร์กับหมู่หญิงเลี้ยงโคกลาง ทุ่งหญ้า อันกว้างใหญ่ในพิธีบูชาการแสดงนี้จะแสดงตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงกลางคืน จะเต้นรำกลางลานกว้าง คัมภีร์พราหมณ์ กล่าวถึงว่า ในเทศกาลโฮลี่นอกเหนือจากการบูชาพระกามเทพแล้ว ชาวฮินดูบางแคว้น เชื่อว่าต้นกำเนิดเทศกาลโฮลี่นี้ เกี่ยวข้องกับพระกฤษณะซึ่งเป็นปางอวตารของพระวิษณุ เทศกาลโฮลี่ คือพิธีเพื่อระลึกถึงพระกฤษณะที่รบชนะนางยักษิณี นามว่า ปุตนะ เรื่องเล่าไว้ว่าในช่วง พระกฤษณะยังเยาว์วัยอยู่ อสูรนามว่า กังสะ ผู้เป็นลุงต้องการฆ่าพระองค์จึงสั่งให้นาง ยักษิณีปุตนะฆ่าเด็กที่มีอยู่ให้ตายทั้งหมด นางยักษิณีปุตนะจึงแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อจับเด็กทั้งหลายมาฆ่าทิ้งจนเมื่อเดินทาง จนพบกับพระกฤษณะ พระกฤษณะทรงทราบว่าเป็นนางยักษิณีแปลงกายเป็นมนุษย์จึงเข้าต่อสู้ได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นพระองค์จึงฆ่านางยักษิณีตนนี้ และนำเลือดของนางมาเป็นอาหาร พิธีกรรมการบูชา ชาวเมืองมถุราจะทำหุ่นจำลองขนาดใหญ่ของนางยักษิณีปุตนะ สร้างจากโครงไม้ไผ่ติดกระดาษนำมาทาสี และนำไฟเผาหุ่นนั้น โดยมีการร้องรำทำเพลง และนำสีฝุ่นมาสาดกันอย่างสนุกสนาน และมีการจุดไฟกองใหญ่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณืที่พระกฤษณะรบชนะนางยักษิณีปุตนะ

ตำนานความเป็นมาของชื่อ “กฤษณา” จากคัมภีร์ตรีมูรติ ซึ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่มากที่สุด

หลักคัมภีร์ตรีมูรติ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พุทธศักราช 800 โดยพราหมณ์ได้แบ่งหน้าที่ ให้ดังนี้

1.พระพรหม เป็นเทพผู้สร้าง คือสิ่งสมบูรณ์สูงสุด ควบคุมทุกอย่างในจักรวาล สร้างสรรพสิ่งในจักรวาล พระพรหมจึงมีฐานะเป็นเทพเจ้าสูงสุดมีพระมเหสี ชื่อ “พระสรัสวดี”

2.พระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นเทพผู้รักษา ภาพพระวิษณุนิยมทำเป็นรูป 4 กร ทรงตรีขรรค์ คฑา จักร และสังข์ มีชายา ชื่อ พระลักษมี พระวิษณุ ได้ลงมาอวตารเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโลกที่ผ่านมามี 9 ปาง ปางที่ 7 คือพระราม ปางที่ 8 คือ ปางกฤษณะ (เกิดมาปราบคนชั่ว) และปางที่ 9 คือปางพระพุทธเจ้า( สถาปนาศาสนาพุทธ) ปางอวตารเป็นพระพุทธเจ้าของพระวิษณุ ซึ่งพราหมณ์มิอาจหยุดความรุ่งเรืองของพระพุทธเจ้าได้ จึงนำเข้ามาเป็นหลักในศาสนา เพื่อการยอมรับและไม่มีความแตกแยกในสังคมศาสนาในอดีต

3.พระศิวะ (พระอิศวร) เป็นเทพผู้ทำลาย ภาพพระศิวะ นิยมทำเป็นรูปฤาษีนุ่งห่มหนังสัตว์ประทับนั่งบนหนังเสือ มี 4 กร ถือ ตรีศูล ธนู ห้อยพระศอด้วยประคำหัวกะโหลก มีงูเป็นสังวาล มีพระมเหสี คือ พระแม่อุมาเทวี หลักตรีมูรติจึงมีผู้สร้าง ผู้รักษา และ ผู้ทำลาย เป็นการจำลองให้เห็นถึงสังคมมนุษย์ว่าโดยภาพรวมย่อมมีบุคคลสามประเภทที่ปะปนอยู่

พระรูปของพระกฤษณะ มีลักษณะผมมุ่น เสียบดอกไม้ พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือดอกบัว อีกข้างหนึ่งถือขลุ่ย ที่ทำจากไม้ชนิดหนึ่ง ในบรรดาเทพเจ้าของชาวฮินดู พระกฤษณะทรงมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ตั้งแต่การดำเนินชีวิตในวัยเด็ก จนทรงเจริญวัยมากขึ้นในที่สุดพระกฤษณะก็กลายเป็นนักปราชญ์ ผู้ปราดเปรื่องในรูปแบบการบูชาแรก ๆ ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีความสัมพันธ์กันมากระหว่างพืชพันธุ์กับแก่นของความศักดิ์สิทธิ์ ในตำนานมีการใช้ที่นั่งและแท่นดอกบัวกันมาก เทพหลาย ๆ องค์ต่างก็อยู่บนที่นั่งหรือแท่นดอกบัว ซึ่งดอกบัวเปรียบดั่งดวงอาทิตย์เนื่องจากดอกบัวจะบานและหุบตามเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและตก ดังนั้นในสมัยฮินดูโบราณจึงกล่าวว่า ดอกบัวเป็นที่อยู่อาศัยของพระอาทิตย์ การใช้สัญลักษณ์ดอกบัว แสดงให้เห็นถึงอะไรที่อยู่เหนือมนุษย์ หรือการเกิดที่ศักดิ์สิทธิ์ ดอกบัวที่งดงามมิได้เกิดจากพื้นดินที่ต่ำต้อยหากแต่เกิดจากผิวน้ำที่บริสุทธิ์เสมอ ไม่มีมัวหมอง ชาวฮินดูนำเมล็ดดอกบัวมาทำเป็นลูกประคำถือว่าดอกบัวแทนการกำเนิดที่เหนือธรรมชาติที่เป็นสิ่งแรกที่กำเนิดจากน้ำในสมัยโบราณและเป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

ในทางศาสนาพุทธ ประวัติของพระพุทธศาสนาโดยรวม ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู จากประวัติได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระโพธิสัตว์หลังจากเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรอันเป็นชาติสุดท้าย ก็ไปจุติไปประทับอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อ ประทับที่สวรรค์พอสมควรแล้ว เทพเทวดาในสวรรค์ทุกชั้นจึงอารธนาให้มาจุติในโลก เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับอารธนา จากตำนานอินเดียในอดีตได้กล่าวไว้ว่าเมื่อประสูติ พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือดอกบัวเช่นเดียวกับพระกฤษณะ พระหัตถ์อีกข้างหนึ่งถือไม้กฤษณา เป็นการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลแนวคิดทางศาสนา

นอกจากนี้ในวรรณคดีไทย เรื่อง “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” เป็นวรรณคดีที่มีมานานตั้งแต่สมัย

กรุงศรีอยุธยาตกทอดมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่ง กรุงรัตนโกสิน ทรงโปรดให้แต่งใหม่ทั้งหมดโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตโนรส จนถึงปี พ.ศ. 2377 อันเป็นปีที่พระองค์ทรง ปฎิสังขรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเสร็จเรียบร้อย โปรดเกล้าให้จารึกความรู้แขนงต่าง ๆ บนแผ่นหินอ่อน ประดิษฐานไว้ รวมทั้งเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ที่มาของวรรณคดี เรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์เป็นพระองค์

แรกว่ามีที่มาจากประเทศอินเดียวทำให้สามารถติดตามเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ไปจนถึงที่สุดซึ่งคือบรรพหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะที่เป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันออก ที่ประพันธุ์โดยฤาษีวยาส ในศาสนาพราหมณ์ ในเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับ พระกฤษณะ และ พระนางกฤษณา

คำว่า “กฤษณะ” หมายถึงผู้ที่มีผิวดำ ส่วน “กฤษณา” จะหมายถึง เนื้อไม้ส่วนที่มีสีดำสะสมเป็นสารกฤษณา

จากตำนานต่าง ๆที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ในทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูที่กล่าวถึงคำว่ากฤษณาหลาย ๆ เรื่องพอที่จะกล่าวไว้ว่า กฤษณาเกี่ยวข้องกับคำว่า กฤษณะ หรือมาจากคำว่า“กฤษณะ” เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็น เทพผู้รักษา ซึ่งในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ ศาสนาพุทธ จึงให้ความเคารพไม้กฤษณาว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้องปกป้องรักษาไว้รวมทั้งในศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ จึงมีการใช้ไม้กฤษณาในพระราชพิธีต่าง ๆ เมื่อไม้กฤษณาเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์จึงไม่สมควรตัดไม้กฤษณาทำลายป่าอีกต่อไป

เพราะเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน หากไม่ปลูกทดแทน ทรัพย์สินที่ได้มา จะกลับคืนสู่แผ่นดินในที่สุดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิตใจของมนุษย์อย่างชัดเจนเป็นแรงศรัทธาที่พร้อมจะโน้มน้าวหรือชักจูงให้มนุษย์กระทำอะไรก็ตาม ตามความฝันของตัวเองจนบรรลุผลสำเร็จ การเผ้ามองสิ่งที่เกิดในธรรมชาติเช่นกฤษณาอย่างละเอียดอ่อนแล้วแสดงความเคารพเพื่อให้ชีวิตเกิดสมดุลที่จะดำรงอยู่และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยึดเหนี่ยวจิตใจ และความเชื่อมั่นของคนมาโดยตลอดการปลูกไม้กฤษณาจึงถือเป็นสิริมงคลของชีวิตเสมือนการจุดธูปหลายล้านดอก และสมควรที่จะใช้ประโยชน์จากไม้กฤษณาปลูกเท่านั้นเพราะปัจจุบันไม้กฤษณาปลูกสามารถกระตุ้นให้หลั่งสารกฤษณาได้เร็วกว่าที่เกิดในธรรมชาติถึง 10 เท่ามีศักยภาพสูงมากพอในเชิงเศรษฐกิจ

แหล่งเก็บข้อมูล
https://sites.google.com/site/vicewyv/phra-kvsna

Featured

แดนเกิดสายที่ห้าได้แก่พระนิพพาน


แดนเกิดสายที่ห้า ได้แก่พระนิพพาน แดนนี้เป็นเขตที่รู้เรื่องกันยากมาก เพราะนักปราชญ์ สมัยนี้ถือว่า “นิพพานสูญ”กันเป็นประเพณีไปแล้ว ขอบอกไว้ย่อๆ ว่า คนที่จะถึงพระนิพพานได้นั้นต้องมีความ บริสุทธิ์ ๑๐ อย่างคือ
๑)ไม่เมาในตัวเองหรือสัตถุต่างๆ ที่คิดว่าเป็นสมบัติของตน รู้สึกเสมอว่าจะต้องตายและพลัดพรากจาก ของรักของชอบใจแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะมาห้ามความตายและความพลัดพรากได้ ทำจิตใจเป็นปกติเมื่อความตายมาถึง หรือเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก
๒)ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรง สอนตามความเป็นจริง ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าสิ่งที่มีชีวิตต้องทำลาย ตัวเองลงในเมื่อกาลเวลามาถึง ไม่มีอะไรทรงสภาพเป็นปกติอยู่ได้ ใครทำความดี ความดีก็จะคุ้มครองให้มีความสุขใจ ใครทำชั่ว ความชั่วก็จะบันดาลความเดือดร้อนให้ แม้ผู้อื่นยังไม่ลงโทษ ตนเองก็มีความหวาดสะดุ้งเป็นปกติ
๓)รักษาศีลมั่นคง ดำลงจิตอยู่ในศีลเป็นปกติ
๔)ทำลายความใคร่ในกามารมรมณ์ให้สิ้นไป จากใจ ด้วยอำนาจความรู้ถึงความจริง รู้ว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ภัยอันตรายที่มีขึ้นแก่ตนเพราะอาศัยความรัก เป็นเหตุ
๕)มีจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตาปราณี ไม่โกรธไม่จองล้างจองผลาญคิดทำร้ายอัน ตรายใคร ไม่ว่าใครจะแสดงอาการอย่างไร จิตก็ไม่คลายจากความเมตตา
๖)ไม่มัวเมาในรูปฌาณ โดยคิดว่าการที่ตนทรงรูปฌาณได้นี้ เป็นผู้ถึงที่สุดของความดี เมาฌาณจนไม่สนใจความดีที่ตนยังไม่ได้
๗)ไม่มัวเมาในอรูปฌาณ โดยคิดว่าความดีเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นทางสิ้นทุกข์
๘)มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่คิดถึงเรื่องอารมณ์เหลวไหล มีจิตใจเต็มไปด้วยความหวังดี ไม่ว่าต่อคนหรือสัตว์ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่
๙)ไม่ถือตน ทะนงตน ว่าดีเลิศประเสริฐกว่าใคร มีอารมณ์ใจเป็นปกติ เห็นคน สัตว์ ทรัพย์สินทั้งหดเป็นของธรรมดาที่ จะต้องตายจะต้องสลายไป และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวเมื่อเข้าสังคมสมาคม ใดๆ มีอาการเป็นเสมือนว่าสังคมนั้น ๆ เป็นกลุ่มของคนที่ต้องตาย ไม่ทำตัวใหญ่ หรือ เล็กจนหน้าเกลียด ทำตนพอเหมาะพอสมควรแก่สมาคมนั้นๆ เรื่องของเขา เขาจะดีจะชั่วก็ตัวของเขา เราช่วยได้เราก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็เฉยไว้ ไม่สนใจที่จะไปเบ่งบารมีทับใคร
๑๐)ตัดความรักความพอใจในโลกีย์วิสัยให้ ้หมด งดอารมณ์อยากดีอยากเด่น ทำอารมณ์เป็นพระพุทธในพระอุโบสถ พระพุทธท่านยิ้มเสมอ ท่านที่จะถึงพระนิพพานต้องยิ้มได้อย่างพระ พุทธ ใครจะดีจะชั่วก็ยิ้ม เพราะเห็นเป็นของธรรมดามันหนีไม่ได้ไล่ไม่ พ้น เมื่อยังมีตัวตนเป็นคนมันก็ต้อง พบอาการอย่างนี้อยู่ ก็สยายใจ ความตายจะมาถึงก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย มีอารมณ์ใจปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ผูกพันทรัพย์สินหรือสัตว์หรือบุคคลอื่น เท่านี้ก็ไปพระนิพพานได้

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

(หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

พิมพ์ เผยแพร่ : สุริยะ มหาสติ (พร โอษฐ์พิมพ์ )
:Phonchai Aotphim

จาก:หนังสือ: พุทธธรรม
นำออกเผยแพร่ 21 ตุลาคม 2017

อ้างอิง:
เผยแพร่:ในชื่อ:เฟส กาลเดินทางของเวลา คือปัจจุบัน (“Phonchai Aotphim”)

Featured

สังขาร สัจจธรรมสัจจธรรม


https://godaddyphonchaiaotphimexample478212186.wordpress.com

สังขาร
สังขาร คือ สิ่งปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น กล่าวคือ สิ่งอันเกิดขึ้นจากการที่เหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมา เมื่อโยนิโสมนสิการพึงเห็นได้ว่ามิได้เกิดแต่เหตุหรือสิ่งๆเดียวกัน แต่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆมากกว่าหนึ่งขึ้นไปมาประชุมปรุงแต่งกัน จึงมิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง แต่มาประชุมหรือมาประกอบกันขึ้น แต่เนื่องจากมิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงจึงมีความไม่เสถียร เพราะแรงบีบเค้นหรือแรงยึดแรงผลักระหว่างกันอันเป็นธรรมชาติ จึงต้องมีอาการแปรปรวน จึงไม่เที่ยงเป็นธรรมดา(อนิจจัง) ไม่สามารถควบคุมบังคับให้คงที่คงทนได้อย่างถาวรตลอดไป เมื่อไม่เที่ยงแปรปรวนไปเป็นธรรมดาอยู่เยี่ยงนั้นตลอดเวลา จนถึงที่สุดย่อมแปรปรวนเสื่อมถอยมาจนมาถึงสภาพสุดท้ายที่ต้องดับไปเป็นธรรมดา(ทุกขัง) จึงก่อให้เป็นทุกข์แก่ผู้ที่อยากด้วยตัณหาหรือยึดไว้ด้วยอุปาทาน เพราะความที่ต้องแปรปรวนและต้องดับไปเป็นที่สุด และต่างล้วนเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริง เพราะล้วนเกิดจากการประชุมปรุงแต่งกันของสิ่งต่างๆที่มิใช่สิ่งเดียวกัน จึงไม่สามารถคงสภาพตัวตนนั้นๆไว้ได้อย่างถาวรเที่ยงแท้ ดังนั้นเมื่อเหตุต่างๆอันมาประชุมปรุงแต่งกันนั้นแปรปรวนและเสื่อมถอยจนดับไปด้วยเหตุอันใด สิ่งนั้นๆหรือตัวตนจึงย่อมดับไปไ ม่มีความเป็นตัวตนหรือสิ่งนั้นๆอยู่อีกต่อไป จึงกล่าวว่า ไม่มีแก่นแกน อย่างแท้จริง……
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เป็นสัจจธรรมที่เที่ยงแท้อยู่เยี่ยงนั้นเอง แต่ในปัจจุบันมีผู้ไม่เห็นเป็นไปเช่นนี้ จึงได้ยินทุภาษิตเป็นไปดังนี้อย่างแพร่หลายคือ ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดีมีถมไป เป็นเพราะความไม่เข้าใจธรรมหรือเกิดความน้อยเนื้อตํ่าใจ จึงมองเห็นแต่สภาวะความเป็นไปตามความเห็นเข้าใจของตน เช่น เห็นคนทำชั่วแล้วรํ่ารวยมีอำนาจเป็นต้น แต่ตามความเป็นจริงนั้นการทำดีนั้นยังย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ไม่สามารถแปรผันเป็นอื่นได้ กล่าวคือ ย่อมเป็นไปตามผลกรรม(ผลของการกระทำ)นั่นเอง อุปมาดั่ง ปลูกข้าวย่อมได้ข้าว จะได้องุ่น เผือก มัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันใด ก็ฉันนั้น เพียงแต่ไม่เห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อปลูกข้าวแล้วแต่ไปอยากไปยึดให้มันรวยขายได้ราคาดี ตามความเป็นจริงแล้วเป็นคนละเหตุปัจจัยกัน ย่อมไม่สามารถเนื่องสัมพันธ์กันได้ แต่ด้วยความไม่รู้จึงไม่เห็นตามความเป็นจริง จึงคิดไปยึดเป็นไปดังนั้นเอง กล่าวคือ ไปมองเห็นหรือเข้าใจว่าทำดีแล้วไม่รวย หรือทำไมทำดีแล้วยังมีเหตุแห่งทุกข์มากระทบอีก หรือคนทำชั่วทำไมถึงรวย คือไปมองในมุมมองที่ผิดไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกัน มองตามความเห็นความเข้าใจของตนจึงเอาไปคิดว่าเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันด้วยความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง และเพราะว่าวิบากกรรม(ผลที่ได้รับจากการกระทำ)เป็นอจินไตย ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงให้เป็นสูตรตายตัวได้เท่านั้นเอง ผลกรรมนั้นจึงเพียงไปแสดงออกในรูปแบบอื่นโดยไม่รู้เท่านั้นเอง ดังนั้นจึงอย่าท้อแท้ด้วยมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นั้นเป็นสภาวธรรมอันเที่ยงแท้แน่นอนเป็นที่สุด และเกิดขึ้นแก่จิต ณ ขณะนั้นโดยทันทีด้วยเช่นกัน
ที่มา: https://www.google.com/url?sa=t&source=web&rct=j&url=http://www.nkgen.com/740.htm&ved=2ahUKEwia8PagwM7pAhUUXSsKHYlzAccQFjAFegQIBxAB&usg=AOvVaw1tPvrjgASm4LNpTlb8bq93
สัจจธรรม
ความไม่เที่ยง มีความเที่ยงเป็นธรรมดา มิได้มีความขัดแย้งในธรรมกันแต่ประการใด ความไม่เที่ยง มีความหมายถึง สังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดาตามกฎพระไตรลักษณ์ ส่วนความเที่ยงนั้นหมายถึงอสังขตธรรมหรือสภาวะธรรม หมายถึง เป็นไปตามธรรมชาติ หรือมันต้องเป็นไปเช่นนี้เอง(ตถาตา) หรือเที่ยงแท้แน่นอน
ดังเช่นความตาย เมื่อกล่าวถึงความตายอันเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั้น ย่อมมีความเที่ยงและคงทนอยู่อย่างนี้ในผู้มีชีวิตเป็นธรรมดา แต่เมื่อพูดถึงสังขารชีวิตที่เกิดมาแล้วย่อมมีความไม่เที่ยง ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ ไม่รู้ว่าจะตายแต่เมื่อไร
ตัวกู ไม่ใช่ของกู
ตัวกู ยังไม่ใช่ของกู แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นของกู ได้อย่างไร
ตัวกู ยังสักแต่ว่าธาตุ๔ แม้ชีวิตของกู ก็สักแต่ขันธ์๕ ถ้าตัวกูเป็นของกูแล้วไซร้ ต้องควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา ไม่ใช่ควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธเจ็บป่วย
แต่เพราะตัวกู ไม่ใช่ของกู อย่างแท้จริง จึงควบคุมไม่ได้ตามปรารถนาเพียงแต่บางครั้งเป็นไปตามปรารถนาจึงไปหลงคิดหลงยึดว่าเป็นตัวกูของกูจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนกันไปทั่วหล้าด้วยไฟแห่งอุปาทานทุกข์ ข้อน่าสังเกตุเวลาพิจารณาธรรมเรื่องสังขารหรือธรรมในพระไตรลักษณะ สังขารเท่านั้นที่อยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์ทั้ง๓ ที่ไม่เที่ยง(อนิจจัง) ทนอยู่ไม่ได้เป็นทุกข์(ทุกขัง) และอนัตตา, ส่วนธรรม,สภาวะธรรมหรือธรรมชาตินั้น อยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์เพียงข้อเดียว คือ อนัตตา คือไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง แต่ธรรมหรือธรรมชาติทั้งหลายนั้นเที่ยง จึงคงทนอยู่เยี่ยงนั้นเอง
โดยทั่วไปแล้วถ้าเราไปหาหมอเพื่อขอคำแนะปรึกษาว่า ควรรับประทานอาหารอะไร หมอทุกๆคนย่อมแนะนำโดยหลักพื้นฐานทั่วไป คือให้รับประทานอาหารครบทุกหมู่อย่างแน่นอน แต่ควรมีความเข้าใจด้วยว่าคำแนะนำนั้น ย่อมหมายถึงคนโดยปกติทั่วๆไป ย่อมมิได้หมายครอบคลุมถึงผู้ป่วยบางโรค ที่อาจต้องยกเว้นอาหารบางหมู่บางชนิดลง เพื่อประกอบการรักษา ในกรณีเดียวกันกับการปฏิบัติ โดยทั่วไปก็มักไปกราบไหว้หลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ ตลอดจนศึกษาจากการอ่านตามสื่อต่างๆ เพื่อขอคำแนะแนวในการปฏิบัติ ทุกท่านทุกองค์ย่อมแนะให้เจริญในศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติสมถะสมาธิและการบริกรรมแม้เป็นสิ่งที่ดีที่สมควรปฏิบัติแก่นักปฏิบัติโดยทั่วไป แต่ในนักปฏิบัติบางท่าน เช่น มีอาการทางจิต หรือติดสุขหรือองค์ฌานต่างๆนั้น ก็ต้องละเว้นเป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยที่พึงต้องละเว้นอาหารบางชนิดเป็นธรรมดา จนกว่าจะแก้ไขอาการต่างๆให้ดีขึ้น จึงพึงควรเจริญปัญญาแต่ฝ่ายเดียวไปก่อน…..

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


สายปฏิบัติธรรม สัมมาสัมพุทธะ ปัจฉิมาสัมพุทธะ : ทาง แห่ง พุทธะ

ธรรมะ พระธรรม / ธรรมะมีอยู่ทุกที่ ไม่มีชนชั้น / กิจของสงฆ์ / ก้าวแรกของการออกจากวัฏสงสาร / กายและจิตเป็นแก้วสารพัดนึก / การขอพร / การเดินทางสายกลาง / การเอาชนะกิเลสตัณหา / ความยุติธรรม / จิตอิสระ / จิตกับความคิดปรุงแต่ง / จริงไม่มี มีไม่จริง / ใจ คืออะไร / ดวงแก้วดวงธรรม(พลังพุทธบารมี) / พลังทิพย์ / ธรรมะอยู่ที่ไหน / สิ่งที่ต้องเรียนรู้  / ผู้มีศีล ผู้ขาดศีล /ผู้มีธรรม ผู้รู้ธรรม /  ผู้มีสมาธิ / ผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง / พิจารณาร่างกายและการดับกิเลส / ความทุกข์จากการเกิด / ผู้รู้แต่ไม่รู้ / ผู้มีบารมี  / ทานบารมี / ศีลบารมี / เนกขัมมบารมี / ปัญญาบารมี /วิริยะบารมี /  ขันติบารมี / สัจจะบารมี / อธิษฐานบารมี /  เมตตาบารมี / อุเบกขาบารมี / ภิกษุณี / ระดับความรู้ในทางธรรม / ไม่ยึดติดในสิ่งที่รู้ / สิ่งใดที่ไม่รู้ไม่ใช่ไม่มี / หลักธรรม / ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง / สัญญาทาส / สีขาวกับสีดำ / สร้างพระอรหันต์ในตน / สมาธิทำให้เกิดปัญญาอย่างไร / สวดมนต์ไปเพื่ออะไร / เรือสายพระนิพพาน / ปล่อยวางกับปล่อยปละละเลย / หลงหรือไม่ / อธิษฐานบารมีกับการร้องขอ / ความสุข ทุกข์ ในวัฏสงสาร / ความคิดเห็นต่างจะวางจิตยังไง /ผู้สำเร็จในธรรม / ดวงตาเห็นธรรม / สิ่งใดที่ไม่รู้ไม่ใช่ไม่มี / ยึดติดในสิ่งที่รู้ /อานิสงส์การแผ่เมตตา / ผู้ลิขิตดวงชะตาชีวิต / รู้ให้แจ้งในกฎของเกมส์ / ความยึดติด / เหตุที่ดีทำให้พบกับสิ่งที่ดี/ รู้ตัวตน รู้หนทาง / บุญเก่าต่อบุญใหม่ / บารมีเต็ม / การกราบไหว้เทพเทวดาผีบรรพบุรุษ / คอมเมนต์อันตราย / มนุษย์เกิดมาทำไม / ผู้มีบุญเกิดมาพร้อมความสำเร็จ / ท่านคือผู้โชคดี / ยึดติดในพระคัมภีร์ / พลังจิต / หลักสูตรเร่งรัดเข้าสู่พระนิพพาน / ความสงบที่แท้จริง อยู่ที่ตรงไหน /วิธีสลายตัวตน / สิ่งใดที่เป็นของเรา / กรรมที่ติเตียนเพ่งโทษสายธรรมอื่น / ไม่เคยทำทานจะไปนิพพานได้ไหม / จิตนี้เป็นใคร / กายนี้มีแต่เรา / กำลังใจอยู่ที่ไหน / ผู้รู้ตื่น / น้ำชาถ้วยหนึ่ง / สิ่งใดที่เป็นของเรา / ปล่อยวางให้ปล่อยแบบไหน / ใจ คืออะไร /ฝึกให้จิตเป็นทิพย์ / นักรบในทางธรรม / ทำบุญทำทานแบบไม่มีตัวทอน / เมื่ออยู่ใกล้ธรรม / วางจิตใจเมื่อกายเจ็บป่วย / ประตูทางออกจากวัฏสงสาร / ไม่ชอบเสียงของผู้แสดงธรรม / การฟังธรรมให้เพราะ / ผู้ที่ละทิฐิ อัตตาตัวตน / สอนคนที่หลงดีอย่างไร / เหตุของการมีปัญหา / ชัยชนะเหนือความทุกข์ / เงามาร / เป็นพระอรหันต์หรือยัง / กฎของธรรมดา*** โอวาทธรรม พระอริยเจ้า***/ สื่อธรรม Camouflage /

มุมมองเดสก์ท็อป การตั้งค่า ไซต์ของฉัน

ขับเคลื่อนโดย Google Sites

๗.๑ พระพุทธศาสนากับการศึกษาที่สมบูรณ์


ท่านพุทธทาส ได้กล่าวถึงหลักการศึกษาที่สมบูรณ์ไว้ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1) มีความฉลาด
2) มีเครื่องมือควบคุมความฉลาด
เพื่อให้ใช้ความฉลาดอย่างถูกต้อง มีวิชาชีพและอาชีพ เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ 3) มีมนุษยธรรม คือ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง พอตัวสอดคล้องกับแนวคิดของท่านปัญญานันทะได้กล่าวถึงการศึกษาที่สมบูรณ์ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา เป็นทางให้เกิดหูตาสว่าง มองการณ์ไกล เป็นปัญญาที่มีเหตุผล มีธรรมะคือสติ เป็นต้น คอยเหนี่ยวรั้งความคิดไม่ให้ดำเนินไปผิดทาง

พระธรรมปิฎก กล่าวถึงการศึกษาว่า การศึกษานั้นเป็นทั้งตัวการพัฒนาและเครื่องมือสำหรับพัฒนา คือ เป็นการพัฒนาตัวบุคคลขึ้นโดยพัฒนาตัวคนทั้งคนหรือชีวิตทั้งชีวิต ตัวการพัฒนานั้นคือการศึกษา เมื่อผู้เรียนมีการศึกษาอย่างนี้แล้ว ก็นำไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ การศึกษาก็กลายเป็นเครื่องมือของการพัฒนา”

ในที่นี้จะกล่าวถึงหลักการทางพระพุทธศาสนาที่จะนำมาเป็นพื้นฐานการจัดการศึกษาให้สมบูรณ์ เพื่อมุ่งเน้นให้มนุษย์เกิดความฉลาด
หรือเกิดปัญญา แล้วนำเอาปัญญาที่เกิดจากการศึกษามาพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ดังนี้คือ

1.มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการศึกษา
พระธรรมปิฎก กล่าวว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นในข้อที่ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษา และฝึกได้ ศึกษาได้ มีหลักการที่ควรสังเกตสำคัญในเรื่องนี้ 2 อย่างคือ

  1. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หมายความว่า การดำเนินชีวิตอยู่ได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้น แทบไม่มีอะไรเลยที่มนุษย์จะได้มาเปล่า ๆแต่ได้มาด้วยการศึกษาคือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้นต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่ดำเนินชีวิตได้ด้วยสัญชาตญาณ แทบไม่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา
  2. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หมายความว่า การที่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้นี้ เป็นความพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม
    ประเสริฐ เมื่อมนุษย์พัฒนาได้สูงสุด จึงถือเป็นผู้ประเสริฐแม้แต่เทวดา พระพรหมก็กราบไหว้เคารพนับถือ ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไป
    ที่เกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น

ในทางพระพุทธศาสนานั้น การพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้องก็คือ การทำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องที่จะนำเข้าสู่จุดมุ่งหมายคือการมีวิถีชีวิตที่ถูกต้องดี เราเรียกกันว่า มรรค คำว่ามรรค คือวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามซึ่งนำไปสู่จุดมุ่งหมายได้ มรรคนี้เป็นของคู่กันกับหลักการอีกอย่างหนึ่งคือ สิกขา ดังนั้นหากต้องการให้มีชีวิตที่ถูกต้องดีงามก็ต้องมีการฝึกฝนหรือฝึกหัด และการฝึกฝนฝึกหัดให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงามเราเรียกว่า สิกขา หรือศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษา ก็คือการฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงาม

ในเมื่อการศึกษาเป็นการฝึกฝนพัฒนาคน ให้ดำเนินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ความหมายจึงตามมาว่า ตราบใดชีวิตของเรายังไม่สมบูรณ์ ยังมีความบกพร่อง ยังมีปัญหา ยังมีทุกข์ ตราบนั้นเราก็ยังต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป นั่นก็คือ การศึกษาตลอดชีวิต หรือพัฒนาชีวิตกันตลอดชีวิตนั่นเอง

  1. หลักธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนากับการศึกษาที่สมบูรณ์

หลักพุทธธรรมที่จะนำมาเป็นหลักในการประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษาแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

1.หลักพุทธธรรมที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปัญหา ครอบคลุมทั้งระบบอย่างเป็นกระบวนการ หลักพุทธธรรมนี้จะใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางการศึกษาที่ดำเนินไปในทุกขั้นตอน หลักพุทธธรรมกลุ่มนี้คือ อริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท

  1. หลักพุทธธรรมเชิงปฏิบัติการ เสริมในรายละเอียด เมื่อตรวจสอบพบจุดบกพร่องของกระบวนการศึกษา หรือกระบวนการเรียนการสอนนั้น การนำหลักพุทธธรรมนี้ไปใช้ก็ทำได้สองอย่างคือ ในฐานะทบทวนแผน (Re-planning) ตามความเป็นจริงที่ปรากฏออกมาจากการตรวจสอบด้วยหลักอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท

ในเรื่องของการศึกษา หรือกระบวนการเรียนการสอน อันถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ก็ควรจะดำเนินไปโดยใช้อริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาทมาเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ แล้วนำเอาเรื่องอื่นมาเป็นบริวาร หลักสำคัญที่จะต้องตระหนักไว้เสมอก็คือ การใช้หลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท มาเป็นหลักในการแก้ปัญหา หรือดำเนินการในเรื่องราวใด ๆ นั้น ต้องตรวจสอบเรื่องนั้น ๆ ทั้งระบบ เพื่อให้พบความจริง ไม่มองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แต่ตรวจสอบเพื้อค้นหาความจริงแล้วแก้ปัญหาตามเหตุปัจจัยที่ปรากฏ บางเรื่องอาจแก้ทั้งหมด บางเรื่องอาจจะแก้เพียงจุดใดจุดหนึ่งก็เพียงพอ

เมื่อเรานำหลักการพุทธธรรมมาใช้ในด้านการเรียนการสอนเราจะมองเฉพาะจุดเล็ก ๆ จุดเดียว ก็จะไม่ครอบคลุมประเด็นในทุก ๆ ด้าน ต้องทำความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่หลักสูตร อาคารสถานที่ ครูอาจารย์ บรรยากาศ อุปกรณ์ วัสดุครุภัณฑ์ ขวัญกำลังใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอยู่ ต้องนำมาพิจารณาให้หมด ตรงจุดไหนที่เห็นว่าดีอยู่แล้วก็รักษาไว้ แต่ส่วนที่บกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น การใช้หลักการนี้มาพัฒนา ผลออกมาจะมีความเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน และความจริงที่ถูกต้องก็คือ ทางสายกลางที่มีความสมดุลในทุกขั้นตอน

https://sites.google.com/site/budsarakon2538/bth-thi-7-sammna-phraphuthth-sasna-kab-kar-kae-payha-laea-kar-phathna/7-1-phraphuthth-sasna-kab-kar-suksa-thi-smburn/011.1C.jpg?attredirects=0

สรรพสิ่งไม่เที่ยง


บนโลกมายาแห่งสมมติ ไม่มีอะไรแน่นอน. สิ่งมีอยู่ ตั้งอยู่ ดับไป คือ ทุกข์ ต้องเกิด ดับ ซ้ำ ๆ ถไม่จบสิ้น วงเวียน การเกิด ดับ คือ วัฏฏะสงสาร แห่ง อัตตา ตัวตนผู้ ยึดมั่นถือมั่น ในตน. ตัวตนบนโลกแห่งขันธ์ ๕ คือ มายา ไม่มีตัวตนจริง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา.

หลงดี หลงชั่ว คือ มัวเมา แห่งความ หลฃ แห่งตัณหา.ทยานอยาก ในจิตใจ. .

การเกิด ตาย คือ ตัวใจ ในมายา.แห่ง ขันธ์ ๕ คือ มายาลวงคน ไม่พ้นภัย ใน สังสารวัฏ. ต้อง เวียน ว่าย ตาย เกิด ไม่ จบสิ้น.

สติ คือ ปัจจุบัน

จิตบริสุทธิ์ ก็คือจิตที่เป็นอิสระ


ในวัชสูตร กล่าวว่า…จงทำจิตให้เป็นอิสระ อย่าให้ไปอิงอาศัยอยู่บนอะไรเลย

ท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า…เมื่อใด จิตเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่มี สัตว์โลกก็ไม่มี เพราะความเป็นอนัตตาหรือสุญญตา เมื่อนั้น จิตถึงความเป็นพุทธะเสียเองแล้ว ความทุกข์และกิเลสก็ไม่อาจจะมีด้วย นี่คือสุดยอดของอภิธรรม

แหล่งข้อมูล: https://mgronline.com/daily/detail/9570000103515

สิ่งที่อยู่เหนือความเกิดแก่ เจ็บตาย


การพัฒนาชีวิตของเรา ต้องดำเนินทั้งภายนอกด้วย ทั้งภายในด้วย
ถ้าหากว่าเรามัวพัฒนาแต่เรื่องภายนอกโดยไม่คำนึงหรือละเลยสิ่งภายใน
การพัฒนานั้นจะขาดความสมดุล แล้วในที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จ

เราพึ่งพระรัตนตรัยตลอดชีวิตได้โดยไม่ต้องสงสัย
ที่พึ่งนอกจากนั้นเป็นที่พึ่งที่ทรยศ จะช่วยเราจริงๆ ไม่ได้
แม้ว่าเราจะพึ่งมันได้เป็นบางครั้งบางคราว
แต่ว่าถึงที่สุดแล้วมันก็จะหนีจากเรา มันจะพลัดพรากจากเราไป
เพราะมันเป็น “สังขาร” หมด
เราจึงพยายามปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “วิสังขาร”
สิ่งที่อยู่เหนือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

เพราะเรากลัวตัวเอง กลัวอยู่กับตัวเอง ก็ต้องออกนอกอยู่ตลอดเวลา
ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลา เลยเป็นทาสของสิ่งภายนอกอยู่ร่ำไป
สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ เราก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามความเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้น
จิตใจของเราก็ไหวกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา
ไหวกระเพื่อมจนกระทั่งเราถือความวุ่นวายว่าเป็นความปกติ

บางทีการเคลื่อนไหวและการกระทำการงานต่างๆ เป็นสิ่งที่สมควร
แต่บางครั้งบางคราวการอยู่นิ่งและการงดเว้นจากการกระทำก็เหมาะสมกว่า

ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้นยังไม่ถึงขั้นที่ว่า “การปฏิบัติชอบ”
ก็อย่างน้อยที่สุด ขอให้เรา “ชอบปฏิบัติ” เสียก่อน

เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ธรรมะก็เป็นแค่ปรัชญาอันลึกซึ้งที่น่าสนใจ
แต่ในโลกที่เป็นจริง พอกิเลสเกิดขึ้น เราก็ทนต่อกิเลสไม่ได้
มันฉุดลากไปเลย ความรู้ของเรามันหายไปไหนก็ไม่รู้

การจะฆ่ากิเลสนิวรณ์นั้น ต้องเข้าใจคำว่า “ฆ่า” นั้น
ว่าหมายถึง การรู้เท่าทัน ฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน

การปฏิบัติทุกขั้นตอน อย่าไปปฏิบัติเพื่อจะเป็น เพื่อจะเอา
เพราะจะเป็นการปฏิบัติที่พายเรือในอ่าง ไม่เป็นการปฏิบัติที่จะข้ามไปฝั่งโน้น

ถ้าจะฟังเทศน์แต่ความจริงล้วนๆ พระจะต้องขึ้นธรรมาสน์พูดแต่คำว่า
“เกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ” คงไม่มีใครอยากฟัง ฟังไม่กี่ครั้งก็เบื่อ
ผู้แสดงธรรมจึงต้องชูรสบ้าง หาอะไรมาประกอบการอธิบายเพื่อให้มันน่าฟัง
แต่แท้จริงแล้วความรู้เกี่ยวกับโลกที่ลึกซึ้งที่สุด
ก็สักแต่ว่าความเข้าใจในเรื่องการเกิด และการดับ
นักปฏิบัติผู้สามารถรู้แจ้งในการเกิดและการดับของสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายในการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย
และย่อมน้อมจิตไปเพื่อสิ่งที่อยู่เหนือการแตกสลาย

เมื่อเราเห็นตัวเอง และเข้าใจเรื่องกิเลสแล้ว
เราจะเห็นความทุกข์หลายๆ อย่างในชีวิตเรานี้ไม่จำเป็นเลย
มันไม่ได้เกิดเพราะดวงไม่ดี หรือเพราะกรรมเก่า
แต่เกิดเพราะความคิดผิดของเราต่างหาก

เราต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่ออยากเอาอยากเด่นไหม
หลวงพ่อชา ท่านก็สอนเสมอว่า อย่าปฏิบัติเพื่อจะเอาอะไร
อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร อย่าเป็นพระพุทธเจ้า อย่าเป็นพระอรหันต์
อย่าเป็นพระอนาคามี อย่าเป็นพระสกิทาคามี อย่าเป็นพระโสดาบัน
อย่าเป็นอะไรเลย เป็นแล้วมันเป็นทุกข์

อย่าเป็นอะไรเลย สบาย ความสบายอยู่ตรงที่เราไม่ต้องเป็นอะไร
เราไม่ต้องเอาอะไร ภาวนาจนไม่มีความรู้สึกว่าได้กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติ
มีความรู้สึกราบรื่น สิ่งภายนอกขึ้นๆ ลงๆ แต่เราก็ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ตาม
เราอยู่ด้วยความวางเฉยของผู้รู้เท่าทัน อาการแห่งความสุขก็มีอยู่
แต่มันอยู่ข้างนอกมันไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา

จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก
ท้องฟ้าไม่ใช่เครื่องบิน เครื่องบินไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าก็อยู่อย่างนั้นแหละ
เมฆก็ผ่านไปผ่านมา เครื่องบินก็ผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว
อันนี้เป็นอากาศ แต่ว่าอากาศไม่ใช่ท้องฟ้า ท้องฟ้าไม่ใช่อากาศ

จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ
เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ อันนี้ก็เป็นอารมณ์ แต่อารมณ์ไม่ใช่ใจ
ที่ว่าวันนี้ใจไม่ดี ใจไม่สบาย ความจริงไม่ใช่เรื่องของใจนี่ ใจมันนิ่ง
ความยินดีและความยินร้าย ความพอใจและความไม่พอใจ
เป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์
ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้

การภาวนา คือ การลดความโง่ของตัวเอง
ผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนา คือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง

ผู้ที่มีสติกำหนดรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นผู้ที่รู้สึกสดใส
และเป็นผู้ไม่กระสับกระส่าย กระวนกระวาย
ที่จะแสวงหาความสุขและความมั่นคงจากภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือจะเป็นความรักความเคารพจากคนอื่น
ทีนี้เราไม่มีความรู้สึกว่าเราขาดอะไร ไม่ต้องการอะไรจากใครในโลก
เราไม่มีความรู้สึกว่าเรามีอะไรเกิน จะมีแต่ความรู้สึกว่ามันพอดี ตรงนี้แหละจิตเป็นธรรม

เราไม่ต้องไปแสวงหาความแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
ให้มารู้จัก มาตระหนัก กับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วตามธรรมดาๆ นั่นแหละ
ปัญญาไม่ได้เกิดจากสิ่งผิดปกติ
แต่มันเกิดจากการรับรู้อย่างทะลุปรุโปร่งต่อสิ่งปกติ

สมถะ คือ หยุด วิปัสสนา คือ ดู การภาวนาต้องการ ๒ สิ่งนี้
คือ ทั้งหยุด ทั้งดู ถ้าไม่หยุดแล้วก็ดูไม่ชัด
ระงับนิวรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งครอบงำจิต
ทำให้ดูอะไรไม่ออก หรือดูผิดเพี้ยนจากความจริง

ในการปฏิบัติท่านให้มีหลักว่า “รีบช้าๆ”
รีบปฏิบัติแต่อย่าใจร้อน ปฏิบัติอย่างรีบๆ ก็ไม่ได้ ท่านจึงให้เรา “รีบช้าๆ”
ต้องรีบเพราะชีวิตของเรามันสั้นเหลือเกิน แต่ต้องช้าๆ หน่อย
ไม่อย่างนั้นอาจจะพลาดพลั้งหรือหลงทาง ตรอกซอกซอยมีเยอะ
โอกาสหลงทางมันมีมาก ต้องค่อยๆ ดู ค่อยๆ ศึกษาไป

…“ทุกข์เพราะคิดผิด”…ให้จำไว้ อย่าลืม
เวลาเริ่มจะเป็นทุกข์ แทนที่จะไปว่าเขา จะไปโกรธเขา
หรือจะไปหงุดหงิดกับเขา จงทบทวนที่จิต
ถ้าหากว่าจิตใจของเราอยู่กับธรรม จะเป็นทุกข์ไม่ได้ เป็นทุกข์ไม่เป็น
ไม่มีสิ่งใดหรือคนใดจะมาบังคับให้เราเป็นทุกข์ทางใจได้
มันไม่อยู่ในวิสัยของใครที่จะบังคับให้ใครเป็นทุกข์ได้
ถ้าเราไม่ยอมเป็นทุกข์ หรือมีคุณธรมพอที่จะปกป้องตัวเอง
หรือรักษาความทรงตัวของจิตตนไว้ได้…

เราต้องกล้าในการปฏิบัติ เราต้องเป็นผู้กล้า กล้าดูความทุกข์
เพราะความทุกข์มีเหตุมีปัจจัย ดูความทุกข์ วิเคราะห์ความทุกข์
เราจะได้รู้ว่าส่วนไหนต้องแก้ไข ส่วนไหนต้องยอมรับ
ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางธรรมชาติ
ส่วนไหนป็นความทุกข์ที่เกิดจากการคิดผิด ความถือผิด

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
สิ่งที่อยู่เหนือความเกิดแก่ เจ็บตาย (พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ)
19/09/2018 22:56:35
สิ่งที่อยู่เหนือความเกิดแก่ เจ็บตาย

โดย…พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ

จิตพุทธะเป็นไฉน


จิต แปลว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ (อารัมมะณะวิชานะนะลักขะณัง) คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ

จิต คือ ธรรมชาติรู้อารมณ์ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ (อารัมมะณัง จินเตตีติ)

จิตเป็นสิ่งธรรมดา

จิตปภัสสร คือ จิตที่ไม่ผสมกับอะไร เป็นฟองน้ำที่ยังไม่ซับน้ำ จิตดวงนี้ไม่ใช่จิตพุทธะ ถ้าจิตปภัสสรเอามิจฉาเข้าไป ก็กลายเป็นจิตมิจฉาแล้ว

สมมติว่า จิตอรหันต์ คือ จิตที่เข้าสู่อรหันต์ แต่ไม่ใช่จิตอรหันต์ จิตเราปภัสสร ก็จะมาผสมกันออกมา เรียกว่า จิตดวงหนึ่งที่เป็นพุทธะ ทุกคนในนั้นก็มี

ที่มา:
http://www.dhammathai.org/index.php

การทำสมาธิ… เป็นการทำหรือปฏิบัติมาก่อน… ที่พระพุทธเจ้าจะประสูติ… และมีมาก่อนที่พุทธศาสนา…


การทำสมาธิ… เป็นการทำหรือปฏิบัติมาก่อน… ที่พระพุทธเจ้าจะประสูติ… และมีมาก่อนที่พุทธศาสนา… จะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เสียด้วยซ้ำ… การทำสมาธิ… มีการทำกันมากในประเทศอินเดีย… โดยเฉพาะในกลุ่มฤาษีในสมัยพุทธกาล… ถ้าเราสังเกตให้ดีว่า การทำสมาธิแล้วสามารถ… บรรลุธรรมได้ ดับทุกข์ได้… ประเทศอินเดียคงมีคนที่บรรลุ… เป็นพระพุทธเจ้าเต็มไปหมด…

สรุปแล้ว… การทำสมาธิจึงเป็นคำสอนของ… ศาสนาพราหมณ์ มากกว่าเป็น… คำสอนของพระพุทธเจ้า…

การวิปัสสนาภาวนา… เป็นเหตุของการตรัสรู้… และมรรคที่องค์ ๘… เป็นผลของการตรัสรู้… ของพระพุทธเจ้า… ในมรรคมีองค์ ๘… ประกอบไปด้วย…

๑. สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาเห็นชอบ… คือ เห็นความไม่เที่ยง เกิดดับ… หมายถึง เห็นถูกตามความเป็นจริง… ของโลกและชีวิตด้วยปัญญา…

๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง… การใช้สมองความคิดในทางกุศลความดีงาม…

๓. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง… การพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม…

๔. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีประพฤติชอบ… ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง…

๕. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินชอบ… อย่างสุจริตชน…

๖. สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ หมายถึง… ความอุตสาหะ ประกอบความเพียร… ในการกุศลชอบ…

๗. สัมมาสติ คือ ไม่ปล่อยให้เกิด… ความพลั้งเผลอจิตเลื่อนลอย… ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ…

๘. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น… อยู่กับความจริงด้วยความ… สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์ อย่างปกติ…

มรรคมีองค์ ๘ สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้…

ข้อ ๑ – ๒ เป็น… ปัญญา… (สัมมาทิฏฐิ-สัมมาสังกัปปะ)…

ข้อ ๓ – ๔ – ๕ เป็น… ศีล… (สัมมาวาจา-สัมมากัมมันตะ-สัมมาอาชีวะ)…

ข้อ ๖- ๗ – ๘ เป็น… สมาธิ… (สัมมาวายามะ-สัมมาสติ-สัมมาสมาธิ)…

การวิปัสสนาภาวนา หมายถึง การเจริญปัญญา… เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต… การวิปัสสนาภาวนา… เป็นเหตุของการตรัสรู้ของ… พระพุทธเจ้า… และมรรคมีองค์ ๘ เป็นผลของ… การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า…

ถ้าจะเรียงองค์ธรรมในมรรคมีองค์ ๘ ต้องเป็น… ปัญญา ศีล สมาธิ ไม่ใช่ ศีล สมาธิ ปัญญา…

พระพุทธเจ้าสอน… ปัญญา… ศีล… สมาธิ… ตามผลที่บรรลุในมรรคมีองค์ ๘…

ปัญญา… เกิดจากการวิปัสสนาภาวนา… พิจารณาขันธ์ ๕ และอินทรีย์ ๖…

ศีล… เกิดจากปัญญาที่ได้มาจากการวิปัสสนา… พิจารณาขันธ์ ๕ และอินทรีย์ ๖… ถ้ามีปัญญาแล้วจะรู้ถูก รู้ผิด รู้ดี รู้ชั่ว… ปัญญาคือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้… เมื่อมีปัญญา ศีลจะเกิดเอง… ไม่ต้องไปถือศีล… ถ้ามีปัญญาแล้ว ศีลจะเกิดขึ้น… ในสันดานความรู้สึกเอง…

สมาธิ… ก็กิดจากปัญญาเช่นกัน… สมาธิแปลว่า เอาจิตไปจดจ่อกับ… สิ่งใดสิ่งหนึ่ง… เมื่อเกิดปัญญาที่มีความรู้ดับทุกข์ได้… ศีลจะตามมาในสันดานความรู้สึก… เมื่อศีลเกิด… ความสุขก็เกิด… เมื่อความสุขเกิดขึ้น… จิตใจเราจะจดจ่อกับความสงบสุขนั้น… หมายถึง สมาธิ… เราได้เกิดขึ้นมาเองแล้ว…

วิปัสสนา… เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด… ปัญญา…

ปัญญา… เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด… ศีล…

ศีล… เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด… สมาธิ…

สมาธิ… เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด… ความสงบสุข…

สรุป…

วิปัสสนา… เป็นต้น เป็นกอ… เป็นรากเหง้าของปัญญา…

ปัญญา… เป็นต้น เป็นแม่… ของศีล และสมาธิ…

การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง… ต้องเรียงเป็น… ปัญญา… ศีล… สมาธิ… ไม่ใช่… ศีล… สมาธิ… ปัญญา…

การศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า… ขั้นแรกต้องศึกษาจาก… พระไตรปิฎก… ต้องอ่านพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มให้ได้หลายๆ จบ… และในพระไตรปิฎก… มีคำสอนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์…

ข้อควรจำอย่างหนึ่ง… เราต้องทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า… ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเท่านั้น…

ไม่ใช่ทำตามที่พระพุทธเจ้า… เคยปฏิบัติมา… เพราะพระพุทธเจ้า… ก็เคยลองผิด… ลองถูกมาแล้ว… แต่คำสอนที่ถูกต้องคือ คำสอน… ที่อยู่ในพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม… ไม่ใช่ไปปฏิบัติธรรมกับอาจารย์… ที่ไม่เคยอ่านหรือศึกษา… พระไตรปิฎกมาก่อนเลย… นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่ง… ที่ศาสนาพุทธกำลังกลายพันธุ์… เป็นศาสนาพราหมณ์เข้าไปทุกวันแล้ว…

ก็เพราะคนไปศึกษาธรรมะตามๆ กันมาโดย… ไม่ค่อยมีใครที่จะเรียนมาจากพระพุทธเจ้า… หรือเรียนมาจากพระไตรปิฎก… โดยตรงนั้นเอง…

พระไตรปิฎก… หมายถึง คัมภีร์ที่รวบรวมคำสอน… ในพระพุทธศาสนาไว้เป็น… หมวดหมู่มี ๓ หมวด ได้แก่…

๑. พระวินัยปิฎก…
๒. พระสุตตันตปิฎก…
๓. พระอภิธรรมปิฎก…

การปฏิบัติธรรมให้บรรลุธรรมตั้งแต่… โสดาบันบุคคลขึ้นไปต้องเริ่มจาก… การวิปัสสนา ภาวนาพิจารณาขันธ์ ๕… และอินทรีย์ ๖… ก่อนคือ พิจารณา… ความไม่เที่ยง… เกิดดับ พิจารณา… ให้เห็นความจริงของโลกและชีวิต… ก่อน… หลังจากเราเห็นความจริง… ของโลกและชีวิตแล้วเราจะเข้าถึง… มรรคมีองค์ ๘ (มรรค… แปลว่าหนทาง…)

ความหมายก็คือ เราเริ่มเห็นทางเดิน… สู่มรรค ผล นิพพาน แล้ว… แล้วมรรคมีองค์ ๘ อันแรกก็คือ… สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นชอบ… เห็นชอบ… หมายถึง เห็นธรรม… เห็นธรรม… หมายถึง เห็นความจริง… เห็นทุกอย่างเป็น… อนิจจัง… ทุกขัง… อนัตตา… หรือ… เกิดขึ้น… ตั้งอยู่… ดับไป… ที่เราเริ่มเห็นความจริงอย่างนี่ได้… เป็นเพราะว่้าเราพิจารณาความไม่เที่ยง… เกิดดับ การท่องหรือวิปัสสนาพิจารณา… ไม่เที่ยง… เกิด… ดับ… เป็นเหตุให้เกิดมรรคมีองค์ ๘… เริ่มเกิดขึ้นแล้ว… ตั้งแต่…สัมมาทิฏฐิ… แล้วองค์ธรรมในมรรคมีองค์ ๘… ก็จะทยอยออกมา… รวมทั้งองค์ธรรมอื่นๆ…

เช่น

  • สติปัฏฐาน ๔…
  • สัมมัปปธาน ๔…
  • อิทธิบาท ๔…
  • อินทรีย์ ๕…
  • พละ ๕…
  • โพชฌงค์ ๗…

นี่คือ… องค์ธรรมของ… โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ… ได้เกิดขึ้นครบ…

สรุป ก็คือ… การวิปัสสนาภาวนาพิจารณา… ขันธ์ ๕ และอินทรีย์ ๖… หรือการพิจารณาความไม่เที่ยง… เกิดดับ… หรือการพิจารณาความเป็นอนิจจัง… ทุกขัง… อนัตตาเป็นเหตุ… เป็นปัจจัย… ให้เกิดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ…

และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ… ก็คือ… องค์ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการ… ตรัสรู้หรือเป็นธรรมที่เกื้อหนุน… แก่อริยมรรคมี ๓๗ ประการ…

แล้วโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ… เป็นผลของการตรัสรู้ธรรมตั้งแต่… โสดาบันบุคคล… ขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์…นี่จึงเป็น… ทางสายเอกสายเดียว… ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า… ถ้าใครนำไปปฏิบัติสามารถ… บรรลุมรรค ผล นิพพาน… ได้ภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี… เป็นอย่างช้า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้…

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า…

คำสอนใดที่ดับทุกข์ได้ทันที… แสดงว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า… การขออ้อนวอน… การทำพิธีกรรมแปลกๆ… สิ่งเหล่านี้ดับทุกข์ไม่ได้… แสดงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำสอน… ของพระพุทธเจ้า… และไม่มีในพระไตรปิฎก…

ในพระไตรปิฎก… เขียนคำว่า… ดูกรภิกษุทั้งหลาย… แสดงว่า… พระพุทธเจ้ากำลังตรัสคำสอนนี้… ให้กับอริยสงฆ์ตั้งแต่… พระโสดาบัน… พระสกิทาคามี… พระอนาคามี… และพระอรหันต์… พระอริยสงฆ์… เหล่านี้… สามารถนำคำสอนนี้ไปปฏิบัติได้…

การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง… ต้องศึกษา… พระไตรปิฎก… ให้เข้าใจและต้องอ่านให้ได้… หลายๆ จบ…

การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องคือ… ต้องแยกให้ออกว่า… ส่วนไหนที่เป็นคำสอนที่เป็น… เหตุ… ของการตรัสรู้หรือ… เป็นคำสอนที่เป็น… ผล… ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า…

หรือแยกให้ออกว่าพระองค์ตรัส… สอนใคร…? สอนอริยสงฆ์หรือ… สอนปุถุชนคนธรรมดา… และต้องแยกให้ออกอีกว่า… พระองค์ตรัสสอน… คำเต็มหรือคำย่อ คำสอน… นั้นเป็นการเล่าให้ฟังหรือเป็นคำตรัสสอน… ในพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์… ส่วนมากพระองค์ท่านตรัสสอน… กับอริยสงฆ์ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป… จนถึงพระอรหันต์มากถึง ๙๐%… มีเพียง ๑๐% ที่ตรัสสอนปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป…

อริยะบุคคล… คือ บุคคลที่หลุดจาก… ปุถุชนคนธรรมดาเป็นอริยบุคคล… หรือบุคคลที่ประเสริฐ… และอริยบุคคลมี ๔ ขั้น ดังนี้..

๑. โสดาบันบุคคล…

๒. สกิทาคามีบุคคล…

๓. อนาคามีบุคคล…

๔. อรหันตบุคคล…

และสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าก็… มี ๒ กลุ่มคือ…

๑. พระอริยสงฆ์ ได้แก่…

(๑) พระโสดาบัน…

(๒) พระสกิทาคามี…

(๓) พระอนาคามี…

(๔) พระอรหันต์…

๒. อริยบุคคลทั่วไป ได้แก่…

(๑) โสดาบันบุคคล…

(๒) สกิทาคามีบุคคล…

(๓) อนาคามีบุคคล…

(๔) อรหันต์บุคคล…

ถ้าใครบรรลุธรรมได้เป็นอรหันตบุคคล… ต้องบวชภายใน ๒๔ ชั่วโมง… เพราะ… ภูมิธรรมบุคคลที่ยังไม่ได้บวช… จะแบกรับภูมิธรรมของพระอรหันต์ไม่ได้…

https://sites.google.com/a/go.buu.ac.th/khwam-ru-ni-kar-pdibati-thrrm/

จิตเดิมแท้ ของท่านพุทธทาสภิกขุ


http://ถาม :- ผมนึกขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับที่ใต้เท้าว่า “ นี่ไม่ใช่นั่นหรอก ” คือหัวใจของสติปัฏฐานทั้งหมด แต่ทำไมที่อื่นเขามีแต่พูดว่า เดินรู้ว่าเดิน ยืนรู้ว่ายืน นั่งรู้ว่านั่ง ฯลฯ ทำนองนี้ทั้งหมดเล่า ผมสงสัยในข้อที่ว่า เดินรู้ว่าเดิน เป็นต้น นั้น แม้แต่แมวหรือสุนัขมันก็ยังรู้ ไม่ต้องพูดถึงคนหรือถึงกับยกขึ้นเป็นบทพระกรรมฐานมิใช่หรือครับ

ตอบ :- นี่เห็นได้ว่าคุณไม่เข้าใจคำในพระสูตรนั้น แมวหรือสุนัขมันรู้อย่างที่คุณว่านั้นจริง มิฉะนั้นมันก็คงเดินไปเรียบร้อยไม่ได้ แต่ที่แมวรู้นั้นเป็นเรื่องสัญชาตญาณล้วนๆ เพียงแต่เดินรู้ว่าเดินเป็นต้น เท่านั้นเอง ส่วนพระพุทธภาษิตนี้ท่านหมายความว่า สิ่งที่กำลังเดินไปนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล เราเขา เป็นเพียงกลุ่มของสิ่งที่มีเหตุปัจจัย ยังตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของเหตุของปัจจัย เคลื่อนไปหรือกล่าวให้ถูกก็คือเปลี่ยนแปลงตามอำนาจเหตุปัจจัยนั้น ๆ หาควรยึดถือเอาว่าเป็นการเดินของเราหรือของผู้นั้นผู้นี้ไม่ แม้เมื่อยืนก็ให้เต็มอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ แม้นอนอยู่ก็เต็มไปด้วยความรู้สึกอย่างนี้ แม้เมื่อกิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ อะไรก็ตาม ก็ให้เต็มอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ทำได้เช่นนี้ ท่านเรียกว่าเดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่าอะไรนอน กินก็รู้ว่าอะไรกิน ฯลฯ บริกรรมสั้นว่า เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง ฯลฯ นี้คือหัวใจหรือความหมายแท้ของสติปัฏฐาน และอาตมาถือเอาความกะทัดรัดสิ้นเชิงว่า กลุ่ม สังขารทั้งหมดที่กำลังเดิน นั่ง นอน ฯลฯ นี้หาใช่ “ นั่น ” ไม่ มันเป็นแต่สังขาร คือไม่ใช่วิสังขาร เราตั้งหน้าปล่อยวางกันท่าเดียว โดยไม่ต้องลังเล เมื่อทำได้ ก็จะไม่จับฉวยเอาอารมณ์หรือเวทนาอันเกิดแต่อารมณ์นั้น ๆ อันเป็นทางมาแห่งอภิชมาและโทมนัส

ถาม :- กระผมภาวนาบริกรรมอยู่เสมอว่า พุทธบริษัทไม่โกรธ ถ้าโกรธไม่เป็นพุทธบริษัท คนโกรธไม่อาจเป็นพุทธบริษัท เพราะไม่อาจนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อาจนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้าก็ไม่พุทธบริษัท เพราะคำว่าพุทธบริษัทแปลว่า ผู้นั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า บางคนแกล้งหาเรื่องด่าผม ผมยังนึกได้และไม่โกรธ แล้วผมจะมาโกรธใต้เท้าซึ่งช่วยเป็นหมอรักษาโรคเรื้อรังให้ผม ผมก็กลายเป็นอะไรไปเสียแล้วเท่านั้นเอง

ตอบ :- ก็อ้ายที่กำลังเป็นกระผม กระผมที่ถูกด่า กระผมที่พยายามจะไม่โกรธ นั่นมันก็มากอยู่ไม่น้อยเทียวนะ

ถาม :- เพราะเหตุไรเล่าขอรับ?

ตอบ :- เพราะนั่นก็ยังไม่ใช่ จิตเดิมแท้

ถาม :- ได้การแล้วขอรับ นี่ก็เหมือนกัน อีกคำหนึ่งที่ผมยังมืดมัว มันเข้าใจยาก

ตอบ :- ไม่เห็นมืดมัวหรือเข้าใจยากที่ตรงไหนเลย ที่เขาว่านิพพานเป็นเมืองเป็นนคร เป็นศิวาลัย เป็นแก้วโชติช่วงอะไรทำนองนี้ อาตมาเห็นว่ามันเข้าใจยากกว่าจิตเดิมแท้เป็นไหนๆ จิตเดิมแท้หมายเอาตามตัวหนังสือก็แล้วกัน คือถ้ามันมีได้ ก็หมายถึงเมื่อยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ใครก็ต้องรับว่ากิเลสเหล่านี้มันเพิ่งจะเกิด คุณยังยึดถืออยู่ว่าคุณไม่โกรธ อาตมาว่านั่นก็ยังมิใช่จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ ต้องเมื่อยังไม่มีความรู้สึกยึดถือ ว่าคุณมีตัวคุณ

ถาม :- คำว่าจิตเดิมแท้มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือครับ?

ตอบ :- เอาเถิด อาตมาจะเหวี่ยงคำว่าไม่ถือตามพระไตรปิฎกไปเสียทางหนึ่งเพื่อตามใจคุณ โดยยอมถือเอาพระไตรปิฎกเป็นเกณฑ์กันแล้ว อาตมาก็อยากจะถามคุณก่อนว่า ที่ว่านิพพานเป็นนครนั้น มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยหรือ คุณไปค้นหาคำว่านิพพานเป็นเมืองหรือเป็นดวงแก้ว หรืออะไรทำนองนั้นในพระไตรปิฎกมาได้ อาตมาก็จะค้นหาคำว่าจิตเดิมแท้ในพระไตรปิฎกมาให้ได้เหมือนกัน

ถาม :- อนาคตเป็นเครื่องตัดสินนะครับ แต่กระผมอยากจะเรียนถามต่อไปว่า การสมมตินี่มันจำเป็นด้วยหรือครับ?

ตอบ :- ถ้าสมมติชนิดใดช่วยเป็นอุบายให้คนเราเข้าถึงความพ้นสมมติหรือเหนือสมมติได้โดยง่ายแล้ว ย่อมจำเป็นที่สุด อาตมาไม่รังเกียจ ในเมื่อใช้สมมติอย่างสมมติเพื่อเป็นอุบายหรือวิธีลัดให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายโดยเร็ว และอย่าลืมว่า ในเรื่องนี้เราจะต้องเปิดประตูให้กว้างจนหมด คืออย่าถือว่าถูก แต่ที่เราสมมติขึ้น ที่เพื่อนกันสมมติมันก็ต้องถูกเหมือนกัน อาตมาสบายมากในเรื่องนี้โดยที่เปิดประตูกว้างนั่นเอง ไม่มีนิกายไม่ว่ามหายาน หินยาน พุทธศาสนาหรือมิใช่พุทธศาสนา

สมมติชนิดไหนของใครมีประโยชน์ในอันที่จะเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด เพื่อปล่อยวางกันแล้ว ก็อยากให้ได้ผ่านหูผ่านตาของเพื่อนนักศึกษาด้วยกันทั้งนั้น ลางเนื้อชอบลางยา และนักศึกษาไม่จำกัดชาติ ธรรมะไม่มีชาติ พระพุทธเจ้าไม่มีชาติ นิพพานไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของชนชาติใด ขอให้เราได้มีโอกาสลิ้มรส “ ธรรมะอันไม่มีชาติ ” ทุกโอกาสที่เราจะลิ้มได้เถิด

ฉะนั้น คุณอย่ารังเกียจคำสมมติ แม้ที่ไม่มีในพระไตรปิฎก หรือที่เป็นคำของชนต่างชาติ โดยเฉพาะ เช่นคำว่าจิตเดิมแท้นี้เป็นต้น ให้เหมือนกับที่คุณไม่รังเกียจคำว่านิพพาน เป็นนครอันเป็นสมมติของชาติเราเองจะดีกว่า มันจะทำให้คุณเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงยิ่งขึ้น คือถือตัวถือตนน้อยเข้า รักความเป็นธรรมมากเข้า มีโอกาสตีแผ่ธรรมะลงไปเป็นของกลางระหว่างชาติได้มากเข้า และนั่นแหละ คือความประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง มิใช่พระพุทธเจ้าตามทัศนะของบางคน

ถาม :- ถ้าจะบัญญัติความหมายคำว่าจิตเดิมแท้ เพื่อเป็นหลักสำหรับศึกษากันแล้ว จะบัญญัติว่าอย่างไรขอรับ?

ตอบ :- คำนี้มีที่มาในคัมภีร์ฝ่ายเหนือ คือฝ่ายมหายานเพียงพวกหนึ่ง และในระยะยุคหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นยุคที่ถือกันว่าทำผลดีให้เกิดขึ้นมากกว่ายุคอื่น เขาบัญญัติความหมายของคำนี้เหมือนคำว่า อสังขตะหรือนิพพานทุกอย่าง ผิดแต่สมมติให้เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับที่พวกเราสมมตินิพพานให้เป็นนครนั้นเหมือนกัน ก็คือหมายถึงสิ่งที่ไม่มีอะไรปรุง ซึ่งเมือไม่มีอะไรปรุงคือไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่มีอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ซึ่งว่ากันที่จริงแล้วมันไม่เป็นจิตเดิม หรือจิตตรงกลาง หรือจิตที่หลังไปได้เลย แต่ก็ขืนสมมติเรียกให้เกิดความหมาย เพื่อให้เป็นมูลฐานที่ตั้งของการศึกษาว่า “ จิตเดิมแท้ ” ฉะนั้นอาตมาก็บัญญัติเอาตามความหมาย เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกันว่า “ จิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ ” เป็นนครแห่งวิสังขาร เป็นนครที่พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบเป็นบุคคลแรก แต่คุณอย่าลืมว่าคำว่า “ จิต ” หรือ “ นคร ” ในที่นี้มันมีความหมายเฉพาะของมัน ทำนองเดียวกับคำว่านิพพานเป็นอมตมหานครหรือศิวาลัยสถาน ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว

สาระธรรม ..จิตเดิมแท้” http://www.kanlayanatam.com/sara/sara149.htm