https://godaddyphonchaiaotphimexample478212186.wordpress.com

สังขาร คือ สิ่งปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น กล่าวคือ สิ่งอันเกิดขึ้นจากการที่เหตุต่างๆ มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมา เมื่อโยนิโสมนสิการพึงเห็นได้ว่ามิได้เกิดแต่เหตุหรือสิ่งๆเดียวกัน แต่มีเหตุหรือสิ่งต่างๆมากกว่าหนึ่งขึ้นไปมาประชุมปรุงแต่งกัน จึงมิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริง แต่มาประชุมหรือมาประกอบกันขึ้น แต่เนื่องจากมิใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงจึงมีความไม่เสถียร เพราะแรงบีบเค้นหรือแรงยึดแรงผลักระหว่างกันอันเป็นธรรมชาติ จึงต้องมีอาการแปรปรวน จึงไม่เที่ยงเป็นธรรมดา(อนิจจัง) ไม่สามารถควบคุมบังคับให้คงที่คงทนได้อย่างถาวรตลอดไป เมื่อไม่เที่ยงแปรปรวนไปเป็นธรรมดาอยู่เยี่ยงนั้นตลอดเวลา จนถึงที่สุดย่อมแปรปรวนเสื่อมถอยมาจนมาถึงสภาพสุดท้ายที่ต้องดับไปเป็นธรรมดา(ทุกขัง) จึงก่อให้เป็นทุกข์แก่ผู้ที่อยากด้วยตัณหาหรือยึดไว้ด้วยอุปาทาน เพราะความที่ต้องแปรปรวนและต้องดับไปเป็นที่สุด และต่างล้วนเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นแกนแท้จริง เพราะล้วนเกิดจากการประชุมปรุงแต่งกันของสิ่งต่างๆที่มิใช่สิ่งเดียวกัน จึงไม่สามารถคงสภาพตัวตนนั้นๆไว้ได้อย่างถาวรเที่ยงแท้ ดังนั้นเมื่อเหตุต่างๆอันมาประชุมปรุงแต่งกันนั้นแปรปรวนและเสื่อมถอยจนดับไปด้วยเหตุอันใด สิ่งนั้นๆหรือตัวตนจึงย่อมดับไปไ ม่มีความเป็นตัวตนหรือสิ่งนั้นๆอยู่อีกต่อไป จึงกล่าวว่า ไม่มีแก่นแกน อย่างแท้จริง……
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เป็นสัจจธรรมที่เที่ยงแท้อยู่เยี่ยงนั้นเอง แต่ในปัจจุบันมีผู้ไม่เห็นเป็นไปเช่นนี้ จึงได้ยินทุภาษิตเป็นไปดังนี้อย่างแพร่หลายคือ ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดีมีถมไป เป็นเพราะความไม่เข้าใจธรรมหรือเกิดความน้อยเนื้อตํ่าใจ จึงมองเห็นแต่สภาวะความเป็นไปตามความเห็นเข้าใจของตน เช่น เห็นคนทำชั่วแล้วรํ่ารวยมีอำนาจเป็นต้น แต่ตามความเป็นจริงนั้นการทำดีนั้นยังย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ไม่สามารถแปรผันเป็นอื่นได้ กล่าวคือ ย่อมเป็นไปตามผลกรรม(ผลของการกระทำ)นั่นเอง อุปมาดั่ง ปลูกข้าวย่อมได้ข้าว จะได้องุ่น เผือก มัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันใด ก็ฉันนั้น เพียงแต่ไม่เห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อปลูกข้าวแล้วแต่ไปอยากไปยึดให้มันรวยขายได้ราคาดี ตามความเป็นจริงแล้วเป็นคนละเหตุปัจจัยกัน ย่อมไม่สามารถเนื่องสัมพันธ์กันได้ แต่ด้วยความไม่รู้จึงไม่เห็นตามความเป็นจริง จึงคิดไปยึดเป็นไปดังนั้นเอง กล่าวคือ ไปมองเห็นหรือเข้าใจว่าทำดีแล้วไม่รวย หรือทำไมทำดีแล้วยังมีเหตุแห่งทุกข์มากระทบอีก หรือคนทำชั่วทำไมถึงรวย คือไปมองในมุมมองที่ผิดไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกัน มองตามความเห็นความเข้าใจของตนจึงเอาไปคิดว่าเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันด้วยความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง และเพราะว่าวิบากกรรม(ผลที่ได้รับจากการกระทำ)เป็นอจินไตย ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงให้เป็นสูตรตายตัวได้เท่านั้นเอง ผลกรรมนั้นจึงเพียงไปแสดงออกในรูปแบบอื่นโดยไม่รู้เท่านั้นเอง ดังนั้นจึงอย่าท้อแท้ด้วยมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นั้นเป็นสภาวธรรมอันเที่ยงแท้แน่นอนเป็นที่สุด และเกิดขึ้นแก่จิต ณ ขณะนั้นโดยทันทีด้วยเช่นกัน
ที่มา: https://www.google.com/url?sa=t&source=web&rct=j&url=http://www.nkgen.com/740.htm&ved=2ahUKEwia8PagwM7pAhUUXSsKHYlzAccQFjAFegQIBxAB&usg=AOvVaw1tPvrjgASm4LNpTlb8bq93

ความไม่เที่ยง มีความเที่ยงเป็นธรรมดา มิได้มีความขัดแย้งในธรรมกันแต่ประการใด ความไม่เที่ยง มีความหมายถึง สังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดาตามกฎพระไตรลักษณ์ ส่วนความเที่ยงนั้นหมายถึงอสังขตธรรมหรือสภาวะธรรม หมายถึง เป็นไปตามธรรมชาติ หรือมันต้องเป็นไปเช่นนี้เอง(ตถาตา) หรือเที่ยงแท้แน่นอน
ดังเช่นความตาย เมื่อกล่าวถึงความตายอันเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั้น ย่อมมีความเที่ยงและคงทนอยู่อย่างนี้ในผู้มีชีวิตเป็นธรรมดา แต่เมื่อพูดถึงสังขารชีวิตที่เกิดมาแล้วย่อมมีความไม่เที่ยง ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ ไม่รู้ว่าจะตายแต่เมื่อไร
ตัวกู ไม่ใช่ของกู
ตัวกู ยังไม่ใช่ของกู แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นของกู ได้อย่างไร
ตัวกู ยังสักแต่ว่าธาตุ๔ แม้ชีวิตของกู ก็สักแต่ขันธ์๕ ถ้าตัวกูเป็นของกูแล้วไซร้ ต้องควบคุมบังคับได้ตามปรารถนา ไม่ใช่ควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธเจ็บป่วย
แต่เพราะตัวกู ไม่ใช่ของกู อย่างแท้จริง จึงควบคุมไม่ได้ตามปรารถนาเพียงแต่บางครั้งเป็นไปตามปรารถนาจึงไปหลงคิดหลงยึดว่าเป็นตัวกูของกูจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนกันไปทั่วหล้าด้วยไฟแห่งอุปาทานทุกข์ ข้อน่าสังเกตุเวลาพิจารณาธรรมเรื่องสังขารหรือธรรมในพระไตรลักษณะ สังขารเท่านั้นที่อยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์ทั้ง๓ ที่ไม่เที่ยง(อนิจจัง) ทนอยู่ไม่ได้เป็นทุกข์(ทุกขัง) และอนัตตา, ส่วนธรรม,สภาวะธรรมหรือธรรมชาตินั้น อยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์เพียงข้อเดียว คือ อนัตตา คือไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนอย่างแท้จริง แต่ธรรมหรือธรรมชาติทั้งหลายนั้นเที่ยง จึงคงทนอยู่เยี่ยงนั้นเอง
โดยทั่วไปแล้วถ้าเราไปหาหมอเพื่อขอคำแนะปรึกษาว่า ควรรับประทานอาหารอะไร หมอทุกๆคนย่อมแนะนำโดยหลักพื้นฐานทั่วไป คือให้รับประทานอาหารครบทุกหมู่อย่างแน่นอน แต่ควรมีความเข้าใจด้วยว่าคำแนะนำนั้น ย่อมหมายถึงคนโดยปกติทั่วๆไป ย่อมมิได้หมายครอบคลุมถึงผู้ป่วยบางโรค ที่อาจต้องยกเว้นอาหารบางหมู่บางชนิดลง เพื่อประกอบการรักษา ในกรณีเดียวกันกับการปฏิบัติ โดยทั่วไปก็มักไปกราบไหว้หลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ ตลอดจนศึกษาจากการอ่านตามสื่อต่างๆ เพื่อขอคำแนะแนวในการปฏิบัติ ทุกท่านทุกองค์ย่อมแนะให้เจริญในศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติสมถะสมาธิและการบริกรรมแม้เป็นสิ่งที่ดีที่สมควรปฏิบัติแก่นักปฏิบัติโดยทั่วไป แต่ในนักปฏิบัติบางท่าน เช่น มีอาการทางจิต หรือติดสุขหรือองค์ฌานต่างๆนั้น ก็ต้องละเว้นเป็นการชั่วคราวเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยที่พึงต้องละเว้นอาหารบางชนิดเป็นธรรมดา จนกว่าจะแก้ไขอาการต่างๆให้ดีขึ้น จึงพึงควรเจริญปัญญาแต่ฝ่ายเดียวไปก่อน…..
