พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดความหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าจะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วยจะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา ฉะนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมเสพเสนาสนะเพียงเพื่อกำจัด หนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดูเพื่อรื่นรมย์ในการออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขารคือยา อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิด แต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนี้ ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้ด้วยการพิจารณาเสพฯ”

อนัตตา ที่ขันธ์ 5 ได้ชื่อนี้


เหตุที่ได้ชื่อว่าอนัตตา อนัตตา ที่ขันธ์ 5 ได้ชื่อนี้ เพราะมีอนัตตลักษณะดังนี้

เป็นสภาพว่างเปล่า คือหาสภาวะที่แท้จริงไม่ได้ เพราะประกอบด้วยธาตุ 4 เมื่อแยกธาตุออก สภาวะที่แท้จริงก็ไม่มี

หาเจ้าของมิได้ คือไม่มีใครเป็นเจ้าของแท้จริง สงวนรักษามิให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ไม่อยู่ในอำนาจ คือไม่อยู่ในบัญชาของใคร ใครบังคับไม่ได้ เช่นบังคับมิให้แก่ไม่ได้

แย้งต่ออัตตา คือตรงข้ามกับอัตตา

️:-

อนัตตา กับ อนัตตลักษณะ เป็นคนละอย่างกัน เพราะเป็นลักขณวันตะและลักขณะของกันและกัน

อนัตตลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่มีตัวตน ไร้อำนาจ ไม่มีเนื้อแท้แต่อย่างใด ได้แก่ อาการที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนแปลงไปของขันธ์ 5 เช่น อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ให้เสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ 5 อันใหม่ไม่ได้, อาการที่ขันธ์ 5 บังคับตนไม่ให้มีขึ้นไม่ได้ ไม่ให้กลับไปไม่มีอีกครั้งไม่ได้ (บังคับให้ไม่หมดไปไม่ได้) เป็นต้น.

ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกอนัตตลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ 5 แบบ เรียกว่า โต 5 และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงอนัตตลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คน

โบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า “จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ – นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า “จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก”เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตลักษณะ).

ข้อมูลอ้างอิง: http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=86

สุญตามีความหมาย 4 นัย คือ


ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ 5 เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตัวตน ไม่มีอัตตา ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสารัตถะต่าง ๆ เช่น ความเที่ยง ความสวยงาม ความสุข เป็นต้น, โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ดัง เช่น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วน ๆ
ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญตา ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) เพราะว่างจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และเพราะมีสุญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์
ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติกำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย

️️

ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกรรมฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาสให้การยอมรับว่า “หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นองค์เดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็น บิดาแห่งการภาวนาจิต”

ประจักษ์พยานแห่งสมญานามดังกล่าว จะเห็นได้จาก คำเทศน์ คำสอนและความสนใจของหลวงปู่ อยู่ในเรื่อง “จิต” เพียงอย่างเดียว เรื่องอื่นนอกจากนั้นหาได้อยู่ในความสนใจของหลวงปู่ไม่

ด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิตจึงทำให้หลวงปู่ประกาศหลักธรรมโดยใช้คำว่า “จิต คือ พุทธะ” โดยเน้นสาระเหล่านี้ เช่น

“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย”

“จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย”

จิตหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพระพุทธะ ดังคำตรัสที่ว่า :-

ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นเรา

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

พระธรรมเทศนาของหลวงปู่ในหัวข้อเรื่อง “จิต คือ พุทธะ” โดยละเอียดได้นำเสนอในภาคคำสอน ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้แล้ว พร้อมทั้งคำแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

ในการสอนของหลวงปู่ ท่านจะเตือนสติสานุศิษย์เสมอๆ ว่า

“อย่าส่งจิตออกนอก”

หลวงปู่ยังสอนแนวทางปฏิบัติ อีกว่า

จงทำญาณให้เห็นจิต เมื่อเห็นจิตได้ ก็จะสามารถแยกรูป ถอดด้วยวิชชามรรคจิต เพื่อที่จะแยกรูปกับกายให้อยู่คนละส่วน แล้วจะเข้าใจพฤติของจิตได้ในลำดับต่อไป”

คำสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตของหลวงปู่ ที่มีการบันทึกไว้ในที่อื่นๆ อีก ก็มีเช่น :-

หลักธรรมที่แท้จริง คือ จิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละ คือ หลักธรรมสูงสุดในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย

จิตนี้แหละ คือ หลักธรรม ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต

ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น

จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน”
ด้วยเหตุนี้ การสอนของหลวงปู่ จึงไม่เน้นที่การพูด การคิดหรือการเทศนาสั่งสอน แต่ท่านจะเน้นที่ การภาวนา และให้ดูลงที่จิตใจ ของตนเอง อย่าไปดูสิ่งอื่น เช่น อย่าไปสนใจดูสวรรค์  ดูนรก  หรือสิ่งอื่นใด  แต่ให้ดูที่จิตของตนเอง ให้ดูไปภายในตนเอง

“อย่าส่งจิตออกนอก” จึงเป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ

ความรู้ ความเข้าใจเรื่องจิต อย่างลึกซึ้งนี้ เป็นผลจากการปฏิบัติที่ ถ้ำพระเวสฯ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

ข้อธรรม : หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะถึงละได้เพราะการสังวรฯ


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์ … ในโสตินทรีย์ … ในฆานินทรีย์ … ในชิวหินทรีย์ … ในมนินทรีย์ …
    
ก็อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใดพึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมในมนินทรีย์อยู่ อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมในมนินทรีย์อยู่อย่างนี้
    
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะถึงละได้เพราะการสังวรฯ”

️

โมหะ เกิดจากความคิดเห็นที่ผิด จากการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ประจักษ์ในเรื่องนั้นๆ ให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่รู้บุญไม่รู้บาป ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป ชักนำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีต่างๆ เช่น ประมาท ทะเลาะวิวาท แก่งแย่งชิงดี อวดดี เกียจคร้าน บ้ากาม อกตัญญู เชื่อง่าย หูเบา

โมหะ กำจัดได้ด้วยปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ในสิ่งนั้นๆ

โมหะ ในคำไทยนำมาใช้ว่า โมโห ซึ่งมีความหมายเพี้ยนไปว่าโกรธ

โมหะ เป็นอาการที่รู้ไม่เท่าทันถึงสภาวธรรมที่แท้จริงของอารมณ์ที่เข้ากระทบกับจิต ทำให้เกิดความวิปริต เห็นผิดไปจากสภาวธรรมที่แท้จริง ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ทั้งสี่

วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย


สงสารเด็ก ๆ น่ะท่าน พวกเขายังอ่อน สติ ปัญญา เอาตัวรอดไม่เป็น คุ้มครองตัวเองไม่ได้ ผู้ใหญใจดีมีเมตตา นั้นน้อยนัก เด็ก ๆ ไม่รู่ อิโหน่อิเหน่.ฝันร้ายที่น่ากลัว ตาม ๆ กัน (ผู้ใหญ่ มองตัวเองแล้วมองเมื่อตนยังเด็ก” เด็ก ๆ คงจะโชคดีมาก ๆ )

💞🌼💖🌏🌼🌻🌳🌲🏵️💐🙏💞🌺💐

รู้และเข้าใจวิธีปฏิบัติและประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา

การบริหารจิต เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้ดีงาม นุ่มนวล มีความหนักแน่นมั่นคง แข็งแกร่ง ผ่อนคลาย และสงบสุข ซึ่งมีการฝึกเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวมากมายหลายวิธี ส่วนการเจริญปัญญานั้น คือการฝึกให้รู้จักคิด อย่างที่เรียกว่า “คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น” นั่นเอง การบริหารจิต เป็นการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ เรียกว่า สมาธิภาวนา ส่วนการเจริญปัญญาคือ การฝึกให้เกิดปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนาภาวนาคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมทั้งด้านสมาธิและวิปัสสนา จะเป็นคนมีคุณภาพจิต สรรถภาพทางจิต และสุขภาพจิตที่ดีที่สมบูรณ์ มีความเข้าใจโลกและชีวิตที่ถูกต้องการเจริญสมาธิอย่างสามัญ หรือฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำองค์ธรรมที่เป็นเครื่องชักนำหรือฝึกให้เกิดสมาธิ คือ “สติ” เพราะสติเป็นเครื่องดึงและควบคุมจิตไว้กับอารมณ์นั้น ๆ การฝึกสมาธิโดยอาศัยสติเป็นตัวนำ แยกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ

  1. การฝึกเพื่อใช้งานทางปัญญา หรือมุ่งประโยชน์เพื่อให้เกิดปัญญา ได้แก่การใช้สตินำทางให้เกิดปัญญาหรือทำงานร่วมกับการใช้ปัญญา โดยมีสติควบคุมอารมณ์และใช้ปัญญาเป็นตัวพิจารณา ให้รู้และเข้าใจอารมณ์นั้น ๆ วิธีการฝึกแบบนี้ไม่ได้เน้นที่สมาธิ แต่สมาธิได้รับการฝึกและเจริญสมาธิไปด้วย และพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ปัญญาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น การฝึกเช่นนี้ได้แก่การฝึกโดยวิธีของสติปัฏฐาน เรียกได้ว่าเป็นการเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน
  2. การฝึกเพื่อสร้างสมาธิหรือมุ่งสู่การสร้างสมาธิเพียงด้านเดียว ได้แก ่การใช้สติคอยควบคุมอารมณ์ไว้ให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้นหรือเป็นวิธีตรึงจิตให้อยู่กับอารมณ์นั้น ๆ เป็นวิธีการที่เน้นสมาธิโดยตรง มุ่งสู่การพัฒนาจิต

อำไพ สุจริตกุล (ม.ป.ป. : 31) กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านวัตถุมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ
พัฒนาการด้านวัตถุอย่างเดียวก่อให้เกิดปัญหามากมายด้วยความเครียดและความเห็นแก่ตัวของบุคคลในสังคมเพื่อปัองกันและขจัดปัญหาดังกล่าวจึงควรส่งเสริมให้ทุกคนพัฒนาจิตด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นการพัฒนาจิตให้รู้เท่าทันโลก รู้จักชีวิตตามเป็นจริง เพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน อันเป็นผลให้จิตบริสุทธิ์และเกิดปัญญาการบริหารจิตและเจริญปัญญา เป็นการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติจนเห็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่ง
ให้เด็กและเยาวชนปฏิบัติตามโอวาท 3 คือ เว้นชั่วด้วยการรักษาศีล ทำดีโดยการประพฤติธรรม และทำจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ ด้วยการฝึกสติ บริหารจิตและเจริญปัญญา ดังตารางต่อไปนี้

  1. รักษาศีล ประพฤติธรรม บริหารจิตเจริญปัญญา
  • ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนกัน – มีเมตตากรุณา ฝึกสติปัฏฐาน 4 ได้แก่
  • ไม่ลักขโมย – ประกอบสัมมาชีพ – ระลึกรู้ในกาย
  • ไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักและหวงแหน – สำรวมในกาม – ระลึกรู้ในเวทนา
  • ไม่พูดเท็จ (เว้นวจีทุจริต 4) – รักษาสัจจะ – ระลึกรู้ในจิต
  • ไม่เสพของเสพติดให้โทษ – มีสติสัมปชัญญะ – ระลึกในธรรมะ
  1. ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเบ็นสันและวอลเลชย์ (Benson and Wallace) พบว่า ระหว่างการฝึกสมาธิจะมีการผ่อนคลายก้ามเนื้อทั่วร่างกาย อัตราของ
    ชีพจรและการหายใจลดลง ความต้านทานของผิวหนังเพิ่มขึ้น ระดับของแลคเตตย์ในเลือด (Blood lactate) ลดลงและกิจกรรมเกี่ยวกับกาเผาผลาญอาหารในร่างกาย (Metabolism) ก็ลดลงด้วย สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ มีการหลั่งของสารประเภทฝิ่นออกมาในสมอง สารนี้เรียกว่า เอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ขณะเมื่ออยู่ในสมาธิหรือออกจากสมาธิแล้ว ผู้ฝึกจะมีความรู้สึกสดชื่น ตื่นตัวสุขสบาย และยังทำให้อาการปวดลดลงด้วย (จำลอง ดิษญวณิช. ม.ป.ป. : 159)

3.ส่งผลทางจิตวิทยานักจิตวิทยาและจิตแพทย์มีความเห็นสอดคล้องกัน ว่าการฝึกสมาธิสามารถลดความเครียดและความวิตกกังวลได้บางท่านได้นำเอาเทคนิคของการฝึกสมาธิมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจและทางอารมณ์บางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคประสาท และโรคทางกายสาเหตุจากจิตใจ

  1. ส่งผลด้านสังคม ผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างสม่ำเสมอจะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพให้ดีและมั่นคง มีความสามารถทางสังคมดีขึ้น เป็นการช่วยป้องกันและขจัดปัญหาสังคม เช่น ปัญหาความก้าวร้าวความรุนแรง ปัญหาทางเพศ ปัญหายาเสพติด วิธีคิดแบบอริยสัจ เป็นวิธีคิดแบบแก้ปัญหา แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
  2. เป็นวิธีคิดตามเหตุและผล คือวิธีคิดที่สืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
  3. เป็นวิธีคิดที่ตรงจุดตรงประเด็น คือวิธีคิดแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดตรงประเด็น ไม่ไขว้เขวออกนอกประเด็น

หลักการสำคัญของวิธีคิดแบบอริยสัจ คือการเริ่มต้นจากปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยกำหนดรู้ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงโดยกำหนดปัญหาให้ชัดเจน (ทุกข์) จากนั้นสืบค้นหาสาเหตุหลายๆสาเหตุ(เหตุปัจจัย)ที่ก่อให้เกิดปัญหานั้นๆ(สมุทัย)ในขณะเดียวกันก็คิดกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการแก้ไขปัญหาแต่ละสาเหตุเป็นไปได้หรือไม่ แล้วคิดวางแผนวิธีการปฏิบัติที่จะแก้ไขสาเหตุของปัญหาโดยสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ (นิโรธ) จนกระทั่งสามารถมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ (มรรค) วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัยคือวิธีคิดพิจารณาถึงปัญหาหาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยการค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยคิดถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล
คำว่า “เหตุ” คือ เหตุเดียว หรือเงื่อนไขใหญ่ คำว่า “ปัจจัย” คือ เงื่อนไขหลายอย่างรวมกัน ดังนั้นคำว่า “เหตุปัจจัย” คือเหตุหลาย เหตุหรือเงื่อนไขหลายอย่างมารวมกันก่อให้เกิดผล ยกตัวอย่างเช่น ต้นไม้ เป็นผลที่เกิดจากเหตุปัจจัยหลายสาเหตุ เช่น จากดิน น้ำ อากาศแสงแดด ปุ๋ย การดูแลรักษา เป็นต้น วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

  1. คิดแบบปัจจัยสัมพันธ์ หมายถึง การคิดถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหรือต่อเนื่องสัมพันธ์กันเป็นหลายหลาย ๆ เหตุปัจจัย ขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่ได้ เช่น ในกรณีของ “ต้นไม้” หากขาดน้ำก็ตาย เป็นต้น
  2. คิดแบบสอบสวนสืบสวน หมายถึง การคิดแบบเป็นกระบวนการแบ่งเป็นการคิดตามลำดับขั้นตอนดังนี้คือ
    2.1 การคิดพิจารณาเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการคิดวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
    2.2 การคิดหาเหตุของปัญหา หรือการนำเสนอเหตุแห่งปัญหา หรือการตั้งสมมติฐาน
    2.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล หรือการรวบรวมความคิด
    2.4 การทดลอง/การปฏิบัติ หรือการทดสอบสมมติฐาน
    2.5 การสรุปผล

” พลังแห่งความรัก “…” ความเมตตา “


ถ้าเรารู้ว่าเรามีพลังอันมหาศาลอยู่ภายในใจเรา

เราจะกล้านำมันออกมาไหม?

พลังที่ไม่มีวันสูญสิ้น

พลังที่ไม่มีวันตาย

พลังที่ต้องรวบรวมจิตใจ

พลังที่เป็นหนึ่งเดียวกับความดีงาม

พลังที่ต้องกล้าแสดงออกมาด้วยจิตที่บริสุทธิ์

” พลังแห่งความรัก “

พลังที่มีอยู่กับทุกชีวิต ทุกทั่วตัวคน

พลังที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ” ความรักทางเพศ “

เราต้องข้ามพ้น ความรักทางเพศ ให้ได้ก่อน

เราถึงจะค้นพบพลังแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่

เป็นพลังที่ไม่มีที่สุดที่ประมาณ

เราจะต้องก้าวให้พ้นตัวตนของเรา

ก้าวให้พ้นความรักตัวเอง

ความรักตัวเองจะปกปิดพลังที่ยิ่งใหญ่เอาไว้

พลังแห่งความรักที่มาจากก้นบึ้งความดีของจิตใจ

ที่มีให้กับใครก็ได้ ชีวิตใดก็ได้

ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความจริงใจอย่างแท้จริง

ให้ด้วยความรัก ความเมตตา ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ

ให้เพราะไม่ได้ปรารถณา สิ่งใดตอบแทน

พลังที่จะนำทุกสิ่งทุกอย่างไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง

พลังที่จะรักษา ค้ำจุนโลกได้

” พลังแห่งความรัก “…” ความเมตตา “

ทรัพย์ทางกาย ทางใจ สมบัติอันพึงใจ


การเกิดในแดนพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้อยู่ในแดนพุทธศาสนา ก็เหมือนอย่างโบราณท่านว่า “เป็นผู้ชายไม่ได้บวช” ฉะนั้น ซึ่งเหมือนกับเหยียบแผ่นดินผิด ทั้งหญิงและชายน่าจะผิดมาด้วยกันที่เกิดมาในวงศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนา แต่ไม่ได้ปฏิบัติศาสนาให้เหมาะสมกับชาติภูมิของตน ก็เท่ากับ “เหยียบแผ่นดินผิด” นั่นแล

พื้นฐานของมนุษย์ ก็คือศีลธรรม เราเกิดมาด้วยอำนาจแห่งศีลธรรมแล้ว ไม่ประพฤติปฏิบัติศีลธรรม ก็เหมือนกับเหยียบพื้นฐานนั้นผิดไป ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติธรรมสั่งสมคุณงามความดีไว้ เพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยเป็นลำดับๆ ไป ที่ว่า “เป็นนิสัย” ก็คือ ศีลธรรมที่เราเคยบำเพ็ญมา ที่เรียกว่า “คุณงามความดี” จะเกิดขึ้นด้วยการให้ทานก็ตาม รักษาศีลก็ตาม การเจริญเมตตาภาวนาก็ตาม หรือการสงเคราะห์สงหาเพื่อนร่วมโลกกัน ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคลก็ตาม ล้วนแต่คุณงามความดี ซึ่งเป็นผลอันดีงามแทรกซึมเข้าสู่จิตใจ จนกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัวในภพชาติต่อไป

จิต เป็นเจ้าของ จิต เป็นผู้บรรจุความดีทั้งหลายที่ทำลงไป เพราะจิตเป็นผู้บงการ จิตเป็นโรงงานแห่งการกระทำความดีเหล่านี้ จิตจึงเป็นเจ้าของที่จะรับเอาผล ซึ่งตนกระทำขึ้นทุกแง่ทุกกระทง เรียกว่า “มูลนิธิ” ก็ได้ “นิธิ” แปลว่าขุมทรัพย์ “มูล” แปลว่ารากฐาน เป็นที่สถิตแห่งขุมทรัพย์ ซึ่งได้แก่ใจ

ที่ให้ชื่อว่า “มูลนิธิ” ก็คือ รากฐานที่ฝังทรัพย์ จิตใจเราเป็นรากฐานอันสำคัญ ที่จะฝังทรัพย์ภายในลงสู่ที่นั่น เมื่อมีทรัพย์ภายในแล้วจะจุติหรือเกิดภพใดก็สะดวกสบาย เช่นเดียวกับคนที่มีทรัพย์ภายนอกติดกระเป๋าไป ไม่ว่าจะไปแห่งหนตำบลใด ต้องการอะไรก็เอาสมบัตินั้นเป็นเครื่องจับจ่ายใช้สอย หรือแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนต้องการ นำมาบำบัดรักษา นำมาบำรุงร่างกาย ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความสะดวกด้วยทรัพย์สมบัตินั้น คนมีทรัพย์ภายในก็เช่นนั้นเหมือนกัน

การท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” ก็เป็นเช่นเดียวกับเราไปบ้านน้อยเมืองใหญ่ในเมืองมนุษย์เรานี่เอง ไปบ้านนอก บ้านนา หรือเมืองนอกเมืองไหนก็ตาม นั่นก็ขึ้นอยู่กับเงินหรือสมบัติ ถ้ามี “แก้วสารพัดนึก” คือเงินแล้ว ไปไหนก็สะดวกกายสบายใจ หากไม่มีก็ลำบาก การท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” ก็ต้องอาศัย “คุณงามความดี” ที่ได้สั่งสมไว้ภายในใจติดแนบตนไปในภพนั้นๆ

การเกิด เราจะบังคับ หรือต้องการเกิดในสถานที่เช่นไร ย่อมจะเป็นไปตามที่เราต้องการนั้นไม่ได้ ท่านว่า “ต้องเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกรรม หรือวิบากแห่งกรรม” ที่ตนได้ทำไว้ จะพาให้เกิด ให้อยู่ ให้สุข ให้ทุกข์ ซึ่งเป็นความจริงอันถูกต้อง มาแต่กาลไหนๆ ลบล้างไม่ได้ ใครจะมีความรู้ความฉลาดสามารถเพียงไร มาลบล้างกรรมและผลของกรรม คือ สุข ทุกข์ ที่มีอยู่กับบรรดาสัตว์ทั่วไปใน “วัฏสงสาร” นี้ ลบล้างไม่ได้!

หากเป็นสิ่งที่ลบล้างได้แล้ว พระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระเมตตาต่อบรรดาสัตว์โลก ไม่มีใครเสมอเหมือน จะทรงลบล้างบาปกรรมทั้งหลายออกจากสัตว์โลกให้หมด ไม่มีเหลือแม้แต่น้อยเลย จะให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วถึงกันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์โลกชนิดใดในโลกทั้งสามนี้ ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “สัตว์โลก” จะไม่มีผู้ใดได้รับความทุกข์ความทรมานทางร่างกายและจิตใจเลย จะมีแต่ความสุขความสบายด้วยกันทั้งนั้น เพราะการลบล้างบาปที่ยังสัตว์โลกให้เกิดทุกข์ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็เป็นธรรมยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แม้เช่นนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะลบล้างกรรมของสัตว์ หรือวิบากแห่งกรรมที่มีอยู่ภายในสัตว์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ เพราะวิบากกรรมเป็นสิ่งตายตัว ใครๆ ไม่อาจลบล้าง หรือทำลายได้นั่นเอง นอกจากผู้นั้นจะพยายามชะล้างหรือลบล้างความชั่ว ด้วยความดีเท่านั้น เช่นเดียวกับเราชะล้างสถานที่สกปรกให้กลายเป็นสถานที่สะอาดขึ้นมา ด้วยน้ำที่สะอาดฉะนั้น นี่เป็นฐานะที่เป็นไปได้ เช่นเราล้างสิ่งที่สกปรกให้สะอาดด้วยน้ำที่สะอาด

การทำความดีก็เหมือนกับการลบล้างความไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจให้ค่อยหมดไปนั่นเอง หากเป็นสิ่งที่ลบล้างกันไม่ได้ ศาสนาก็อยู่ในโลกไม่ได้ ปรากฏในโลกไม่ได้ เพราะเป็น “อฐานะ” ลบล้างไม่ได้ มาสอนกันให้เป็นโมฆะเปล่าๆ ทำไม

ที่พระพุทธเจ้าประทานธรรมะไว้สอนโลก ก็เพื่อลบล้างมลทิน คือ บาปกรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในสันดานของสัตว์ด้วยการทำดี ให้สะอาดไปโดยลำดับนั่นแล ความประพฤติ การกระทำที่เคยไม่ดีมาก่อน ก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นการกระทำดี พูดดี คิดดีไปเรื่อยๆ เพื่อให้สิ่งเก่าแก่ที่ไม่ดี ซึ่งเคยเป็นมาแล้วเพราะความไม่รู้เดียงสาภาวะค่อยๆ หมดไป หากยังมีเหลืออยู่บ้าง ก็เป็นเพียงวิบากเก่าไม่กำเริบ คือ เป็นผลเฉพาะที่ปรากฏอยู่เท่านั้น ไม่กำเริบหรือไม่รุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

แต่ถ้าสามารถชำระล้างจิตใจให้มีความสะอาด ปราศจากมลทินโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็เป็นอันว่าลบล้างวิบากแห่งกรรมทั้งหลายภายในจิตใจได้โดยสิ้นเชิง หากจะปรากฏบ้าง ที่เรียกว่า “วิบาก” ซึ่งเป็นผลของกรรมเก่า ซึ่งเคยทำมาตั้งแต่กาลก่อน “ก็ได้รับแค่ธาตุขันธ์” เท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่นพระพุทธเจ้าเวลาจะปรินิพพาน เสด็จไปกรุงกุสินารา จะเสวยน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำ ตักที่ไหนก็เป็นโคลนเป็นตมไปหมด เรื่องนี้พระองค์ก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “นี้เป็นเพราะกรรมเก่าของเราซึ่งแต่ก่อนเราเป็นพ่อค้าโคต่าง ไล่โคเป็นจำนวน ๕๐๐ ตัวลงไปในแม่น้ำใด หนองใดบึงใด ก็ขุ่นเป็นโคลนเป็นตมไปหมด สัตว์เหล่านั้นได้ดื่มแต่น้ำที่สกปรกที่ขุ่นเป็นโคลนเป็นตม ผลนั้นจึงสะท้อนกลับมาถึงเรา” นี่ผลก็มีเพียงพระกายเท่านั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงพระทัยที่บริสุทธิ์ของพระองค์เลย

ส่วนความดีงามก็ตามสนองมาโดยลำดับ เช่น เสด็จไปสถานที่ใด ก็มีคนเคารพ เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม เคารพนบนอบพระองค์ เครื่องสักการบูชามาจากทิศต่างๆ เต็มไปหมด นี่ก็เป็นการเสวยผลในทางพระกายเท่านั้น ส่วนที่จะให้พระองค์มีความยินดียินร้ายไปด้วยนั้น ไม่มี!

การที่เราทำความดีทั้งหลายนั้น ก็เหมือนกับเราเอาน้ำสะอาดชำระสิ่งที่สกปรกโสโครกภายในจิตใจให้หมดไปโดยลำดับๆ ท่านจึงสอนให้ทำความดี คนมีคุณงามความดีย่อมเป็นที่อบอุ่นภายในจิตใจ ทั้งปัจจุบัน คือเวลายังเป็นอยู่ และอนาคตที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้า เพราะเรามีหลักยึด มีที่พึ่งที่เกาะที่อาศัยภายในใจ ไม่มีสิ่งใดที่จะแนบสนิทใจหรือเป็นที่ตายใจ ที่อบอุ่นใจ ยิ่งกว่าคุณงามความดีทั้งหลาย ที่ท่านว่า “เปรียบเหมือนกับเงาเทียมตัว แต่เงานั้นจะปรากฏในที่แจ้งเท่านั้น เข้าสู่ที่มืดแล้วเงาไม่ปรากฏ” สำหรับคุณงามความดีนี้ เราจะไปเกิดในสถานที่ใดๆ ย่อมติดแนบอยู่กับใจเรา เพราะความดีเหล่านั้นสถิตอยู่กับใจ

ท่านจึงสอนให้พยายามอบรมจิตใจ ความยากความลำบาก อย่าถือเป็นอุปสรรคจนเกินเหตุเกินผลจนเสียเวล่ำเวลา ไม่ได้กระทำความดี เพราะความลำบากนั้นเป็นอุปสรรค ความลำบากเพราะหน้าที่การงานนั้นมีด้วยกัน เราอย่าถือว่าเราเป็นมนุษย์มีหน้าที่การงานล้นมือ บางคนว่าเหลือบ่ากว่าแรงก็มี

ส่วนสัตว์ล่ะ เขาหากินอยู่ในถิ่นต่างๆ ไม่ว่าสัตว์ชนิดใด มีปาก มีท้อง ต้องวิ่งเต้นขวนขวายหาอยู่หากิน นั่นไม่ใช่งานของเขาหรือ? เขาก็ไม่เห็นบ่น ทั้งเสี่ยงต่ออันตรายมาก เวลาอยู่โดยปกติ และเวลาออกเที่ยวหากิน ไม่เหมือนมนุษย์เรา สัตว์ไปที่ไหน ทั้งความกลัวตาย ทั้งความหิวโหยบีบบังคับให้จำต้องออกหากิน ไม่ยังงั้นก็ถูกเขาฆ่าจริงๆ ต้องระมัดระวัง ทั้งปากท้องก็หิวโหย จะไปกินน้ำก็กลัวจะถูกเขายิง กลัวว่าจะถูกข่ายเขาดัก จะกินผลไม้ก็กลัวจะถูกเขาดักอีก จะไปหากินหญ้า กินอาหารชนิดใดๆ ก็กลัวถูกมนุษย์นั่นแหละสำคัญ คอยแต่จะทำลายเขา เสี่ยงไปทุกด้านและทุกวันเวลาไม่เหมือนมนุษย์เรา นั่นก็คืองานของเขา ซึ่งเสี่ยงอันตรายยิ่งกว่ามนุษย์เรามาก งานของเขาการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไม่เหมือนงานของมนุษย์ รู้สึกผิดกันอยู่มาก ได้เปรียบสัตว์อยู่มาก

งานของมนุษย์นี่ มีน้อยที่จะเป็นงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเหมือนดังสัตว์ทั่วๆ ไป เป็นงานที่ทำด้วยความอิสระ โดยการประกอบหน้าที่การงานที่ชอบธรรม เราทำได้ด้วยกันทั้งโลก ไม่มีใครว่าใคร ไม่มีใครเบียดเบียนใคร อาจมีบ้างก็เป็นธรรมดาของคนมีกิเลส ไม่เช่นนั้นก็ไม่เรียกว่าการงานของคนมีกิเลสอยู่ด้วยกัน แต่ที่จะออกหน้าออกตาเหมือนดังที่เขาทำลายสัตว์อย่างนั้นไม่มี ถึงจะยากลำบาก ก็ถือว่าเป็นงานจำเป็นของเรา เพราะเราต้องอาศัย เวลาร้อน ไม่พึ่งเย็นจะพึ่งอะไร เวลาหนาวก็พึ่งผ้าห่ม เวลาร้อนก็ต้องพึ่งน้ำ เวลาหิวกระหายก็ต้องพึ่งอาหารการบริโภค ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ที่จำต้องขวนขวายมีไว้ในคราวจำเป็นด้วยกันทั่วโลก

ร่างกายของเรามันอยู่ตามลำพังตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่นๆ ตลอดมา ทีนี้ทางด้านจิตใจจะไปอยู่โดดเดี่ยวได้อย่างไร เมื่อไม่มีคุณงามความดีเป็นที่เกาะที่อาศัย ก็ต้องว้าเหว่วุ่นวาย ขุ่นมัว เดือดร้อน ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญประโยชน์ เช่นการทำบุญให้ทานเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนา ซึ่งเป็นที่รู้และที่รวมแห่งกุศลทั้งมวล

อายุอานามไม่สำคัญ จิตใจมันคึกคะนองได้ด้วยกันทั้งนั้น ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความคึกคะนองไม่เข้าเรื่องเข้าราวต่างๆ ราวกับจะตายไม่เป็น นั่นคิดได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ไม่มีประมาณความพอดี ถ้าไม่มีธรรมเป็นรั้วกั้น เป็นทำนบคอยปิดกั้นไว้ ใจจะโดดลงนรกวันหนึ่งกี่ครั้งนับไม่ถ้วน นรกในที่นี้ คือ ความทุกข์ร้อนภายในใจ ที่ความคึกคะนองของใจก่อขึ้นมาเผาลนตนเองอยู่ไม่หยุด ชนิดรถไม่มี “เบรกห้ามล้อ” นั่นแล

คำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้างขวาง อาจนึกน้อมนำมาปฏิบัติได้ยาก จึงย่นธรรมเข้ามาเพื่อเข้าใจและปฏิบัติถูกและง่ายขึ้น เช่น การภาวนาด้วยบทธรรม มี “พุทโธ” เป็นต้น เป็นคำบริกรรมกำกับใจ ไม่ให้คิดไปอื่น อบรมใจให้มีความสงบสุข ซึ่งเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการอบรมบ้างเลยตลอดวันตาย ใจจะหาความสงบสุข และหาที่หลบที่ซ่อนจากทุกข์ไม่ได้เลย จะมีแต่ความรุ่มร้อนกลุ้มรุมอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการอบรมด้วย “จิตตภาวนา” จึงเป็นผลให้เกิดความสงบ และพักผ่อนหย่อนใจได้ดีในโอกาสอันควร ไม่รุ่มร้อนเสมอไป

ขณะที่เรากำหนด “พุทโธ ๆ” นั้น จิตก็ให้สงบอยู่กับ “พุทโธ” อยู่แล้ว บังคับไม่ให้จิตส่งออกไปภายนอก ซึ่งเคยส่งออกไปกี่ปีกี่เดือนมาแล้ว ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรนอกจากความทุกข์ที่ถูกต้อนมาเพราะความคิดอันเป็นไฟนั้นๆ เท่านั้น เวลานี้เราจะระงับความคิดทั้งหลายซึ่งเคยรบกวนใจให้สิ้นไป อาศัยความคิดปรุงเฉพาะคำ “พุทโธ” “พุทโธ” อย่างเดียวเท่านั้น เช่น เรากำหนด “พุทโธ” ก็บริกรรม และมีความรู้จดจ่อ ตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ ไม่ให้จิตส่ายแส่ไปสู่อารมณ์ที่ก่อกวนตนเอง จิตย่อมจะได้รับความสงบ ใจเมื่อได้รับการบำรุงรักษาด้วยสติ และตั้งหน้าตั้งตาทำอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตย่อมมีความสงบลงได้ พอจิตสงบ กายสงบ ความสุขก็มาเอง เหตุที่ไม่มีความสุขอยู่ภายในใจนั้นก็เพราะใจไม่มีความสงบนั่นเอง จึงทำให้กายระส่ำระสาย จนหาที่หลบซ่อนผ่อนคลายบ้างไม่ได้

พอจิตเริ่มสงบ ภาระก็เริ่มเบาลง ใจก็เริ่มสบายในขณะนั้น และเริ่มเห็นคุณค่าของความสงบขึ้นในทันทีทันใด ฉะนั้นขณะทำภาวนาจึงเป็นขณะที่กลั่นกรองอารมณ์ออกจากใจ ให้เหลือเฉพาะอารมณ์แห่งธรรม เช่น คำบริกรรม “พุทโธ” เป็นต้นเท่านั้น อารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัยอื่นๆ ระงับดับไปหมด ไม่สนใจคิด ใจก็ได้รับความร่มเย็นเมื่ออารมณ์แห่งธรรมเข้าสู่ใจ เมื่อใจมีความร่มเย็น มีความสงบแล้ว ย่อมเกิดความโล่งโถงภายในตัวเอง ปรากฏว่าใจมีคุณค่าขึ้นมาในขณะนั้น

แต่ก่อนเราไม่เคยคิดว่าเราจะมีคุณค่าอะไรเลย นอกจากความด้นเดาเกาหมัดไปเฉยๆ เพราะความเห่อตัวเองว่ามีคุณค่าอย่างนั้น สำคัญตนอย่างนี้ แบบลมๆ แล้งๆ โดยหาความจริงไม่ได้ แต่พอจิตมีความสงบตัวลงเท่านั้น ก็เหมือนกับเราสร้างคุณค่าขึ้นภายในจิตใจเรา ปรากฏเป็นความอบอุ่น เป็นความร่มเย็นเป็นสุข มีที่พึ่ง นั่งอยู่ก็อิ่มใจ ทำอะไรๆ อยู่ก็อิ่มเอิบภายในใจ ใครจะว่าอะไรก็ไม่ค่อยโกรธเอาง่ายๆ ไม่ค่อยฉุนเฉียว เพราะจิตมีที่พึ่ง มีหลักเกณฑ์ ไม่วอกแวกคลอนแคลน เพียงเท่านี้ก็เห็นผลแล้ว ผลนี้แลที่จะยังเหตุดีต่อๆ ไปให้เพิ่มปริมาณขึ้น หรือสืบต่อกันไปเป็นลำดับ จนมีกำลังมากขึ้นทุกที ทวีคูณ

เมื่อปรากฏผลเป็นความสงบสุขแล้ว คนเราย่อมมีแก่ใจ เพราะทำงานเป็นผล คือความสงบสุข แต่ต้องพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ยิ่งเฒ่าแก่แล้วเช่นนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะไปหาทำงานอะไรกับโลกเขาให้เหมาะสมกับตัวและวัยของตัว ซึ่งคอยแต่จะตกคลองอยู่แล้ว นอกจากงาน “จิตตภาวนา” ซึ่งเป็นงานยอดเยี่ยม และเหมาะสมกับวัยที่ผ่านโลกมานานเท่านั้น

งานเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ก็เลี้ยงมาเสียพอแล้ว แทบเป็นแทบตาย เลี้ยงลูกแล้วยังไม่แล้ว ยังเลี้ยงหลาน เลี้ยงเหลน อะไรๆ เป็น “บ๋อย” เขาอยู่ตลอดมา จึงควรหันมาเลี้ยงตนบ้าง ตนมันยังไม่เติบโต โตแต่วัยอายุสังขาร แต่ภายในใจมันเหี่ยวมันแฟบอยู่ตลอดเวลา หาความสุขที่จะบรรจุบ้างไม่มีเลยอย่างนี้ จะไม่ร้อนใจได้อย่างไร มันต้องร้อนคนเรา! เพราะไม่มีความร่มเย็นด้วยธรรมภายในใจ เป็นที่เกาะที่ยึดอาศัย

เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามเลี้ยงตัวเองด้วยศีลด้วยธรรม พยายามอบรมจิตใจของตนให้มีความสงบ จิตจะพองตัวขึ้นมา เย็นสบายโล่งขึ้นมา การเลี้ยงตัวด้วยศีลด้วยธรรมมีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ จงพยายามอบรมรักษาตน คือรักษาใจให้ดี อย่าให้ตัวแมลงมากัดมาไชมาบ่อนทำลายได้ อะไรๆ ก็ได้ผ่านมาแล้ว เรื่องโลกเรื่องสงสาร เราเคยผ่านมานานขนาดนี้แล้วพอจะรู้เรื่องได้ดี เพราะเราได้เคยบวกเคยลบมาแล้ว ผ่านโลกมานาน ทางตาก็ผ่านมาแล้วตั้งแต่วันรู้เดียงสาภาวะ หู จมูก ลิ้น กาย มันสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายมาตลอดสาย ผลดีผลชั่วมีประการใดบ้าง เราพอทราบจากความสัมผัสเหล่านี้มาแล้ว ไม่น่าสงสัยว่าสิ่งเหล่านั้นจะพาเราวิเศษวิโสต่อไปอีกแล้ว

เวลานี้ยังเหลือแต่ความรู้ คือ ใจเท่านั้น สิ่งที่เคยสัมผัสมาเหล่านั้นก็หายไปหมด เอาความจริงจังกับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แล้วเรายังจะพะวักพะวนกับความคิดปรุงในสิ่งเหล่านี้อยู่อย่างไรอีก ถ้าไม่ใช่เราหลงจนเกินตัวไป เราควรจะบวกลบ คูณหาร ดูตัวเราด้วยดี ที่เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่ผ่านมาแล้ว และประมวลจิตใจ ประมวลความรู้สึก ประมวลความตั้งอกตั้งใจ เจตนาของเราลงสู่ธรรม บำเพ็ญตนด้วยจิตตภาวนา หรือด้วยอะไรก็ตามที่เป็นคุณงามความดี เป็นที่อบอุ่นของใจ เป็นอารมณ์อันร่มเย็นเป็นสุขทางใจ และอยู่ด้วยความเป็นสุขใจ เฉพาะอย่างยิ่ง คือ จิตตภาวนา เป็นอารมณ์สำคัญมากต่อจิตใจ จงทำจิตตภาวนาให้มีความสงบเย็นใจ คำว่า “ความสงบ” มีหลายขั้น

ขั้นต้นแห่งความสงบ ก็พอเริ่มๆ สงบเข้าไป เริ่มเบากาย เบาใจ ทำหลายๆ ครั้งหลายๆ หน ก็สงบแน่วแน่ สงบแนบแน่น ละเอียด ละเอียดจนร่างกายไม่มีในความรู้สึกเลยก็มี นั้นมีความสุขมาก จิตเวิ้งว้างอย่างพูดไม่ถูก จะว่าอยู่ในอากาศก็ไม่เชิง อยู่กับอะไรก็ไม่ใช่ แต่ความรู้หากรู้ตัวอยู่โดยเฉพาะ ส่วนร่างกายหายไปหมดในความรู้สึกนั้นแหละ คือความสงบที่ละเอียดมาก นั่นเป็นความสุขที่ลืมไม่ได้ หากไม่มีความก้าวหน้าขึ้นไปยิ่งกว่านั้น จะลืมความเป็นเช่นนั้นไม่ได้จนกระทั่งวันตาย เพราะเป็นความสุขที่ประทับใจอย่างยิ่ง ตั้งแต่วันเกิดมาไม่เคยปรากฏเช่นนี้ เป็นความสุขที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ นี้แลเป็นเชื้ออันสำคัญที่จะให้เกิดความอุตส่าห์พยายามต่อสู้กับความวุ่นวายทั้งหลาย เพื่อเอาความสงบนี้เข้ามาเป็นสมบัติของใจได้อย่างสมหมาย

ที่กล่าวมานี้ เรียกว่า “ใจสงบ” ความสงบนั้น คือไม่มีอารมณ์อะไรมากวน ภายในใจเองก็ไม่คิดไม่ปรุงวุ่นวาย ออกไปยุ่งเหยิงกับสิ่งภายนอก สิ่งภายนอกก็มีอยู่ตามสภาพของเขา เมื่อใจไม่ไปเกี่ยวข้องแล้ว ก็เหมือนไม่มีสิ่งต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในโลกมากมาย ทั้งนี้เพราะใจไม่ไปเกี่ยวข้องเขาเท่านั้น เกี่ยวข้องมากน้อย เรื่องราวคืออารมณ์ก็มาก ตามใจที่คิดออกไปเกี่ยวข้อง

พอจิตหดตัวเข้ามาสู่ความเป็นตัวของตัวอยู่โดยเฉพาะ ไม่ไปสำคัญมั่นหมายอยู่กับสิ่งใดๆ แล้ว สิ่งเหล่านั้นถึงมีมากน้อย ก็เหมือนไม่มี เพราะจิตไม่ปรุง ไม่กวนตัวเองคือ ใจไม่เกิดความสำคัญมั่นหมายในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว ก็ยิ่งมีความสงบแน่วแน่เข้าไป เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นั่นเป็นความสงบที่ละเอียดมาก โลกนี้เหมือนมีแต่ใจดวงนี้เท่านั้น นอกนั้นเหมือนไม่มีอะไรเลย เพียงเท่านี้ก็สบายแล้ว เพราะเห็นหลักเกณฑ์อันแจ่มแจ้งชัดเจน ด้วยใจตัวเอง

หลักเกณฑ์ภายในร่างกาย ชีวิตจิตใจของเรานี้ มีอะไรเป็นหลักที่แท้จริง ก็คือดวงใจนี้เอง ใจก็รู้ชัดเจนแล้วทำอย่างไรถึงจะให้ยิ่งกว่านี้ ? จนถึงที่สุดของจิตของธรรม ที่เป็น “ยอดธรรมแท้”

ตามธรรมดาแม้แต่เราแสวงหาสมบัติได้เท่านี้แล้ว มันต้องอยากได้เท่านั้น ได้เท่านั้นแล้วมันก็อยากได้เท่าโน้นอีก แต่เรื่องการแสวงหาสมบัติภายนอก คือ ทางโลกนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะหาด้วยอำนาจแห่งความอยาก คือแบบโลกๆ ธรรมดาๆ

แต่ทีนี้เราหาด้วยธรรม หาแบบธรรม ธรรมมีเขตมีแดน มีจุดหมายปลายทาง มีที่ “อิ่มพอ” เมื่อจิตก้าวขึ้นไป ก้าวขึ้นไป จิตเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ความสุขแค่นี้ ต้องการแค่นั้น ตามความจริงเข้าไป อะไรเป็นสิ่งน่าคิด น่าไตร่ตรอง คิดมันไป เช่น

การพิจารณาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ซึ่งอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิด ไม่ทราบว่า ธาตุขันธ์ นั้นคืออะไร เขาว่าร่างกายก็ว่าไปกับเขา เขาว่าเราก็ว่าไปกับเขา เหมือนกระต่ายตื่นตูม ในร่างกายนี้ทั้งหมด เรายังไม่ได้แยกแยะให้เห็นตามความจริงของมัน ว่ามีอะไรบ้างที่รวมกันอยู่ จะต้องแยกแยะเข้าไปดูตั้งแต่ผิวหนัง หรือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ดูเข้าไปภายใน ดูเข้าไป ดูเข้าไป หาตัวหญิง ตัวชาย ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเรา ตัวเขา ตัวอัตภาพร่างกายจริงๆ คืออะไร ค้นเข้าไป นี่ท่านว่าปัญญาค้นเข้าไปหาความจริง!

ทีนี้ ความจริงที่ปรากฏขึ้นจากการค้นคว้า การพิจารณาด้วยปัญญานี้ ไม่ใช่เป็นดังที่เราว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เสียแล้ว มันกลายเป็นความจริงอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา ถ้าว่า “ธาตุ” ก็สักแต่ว่า ธาตุ ถ้าว่า “รูป” ก็สักแต่ว่ารูป ถ้าว่า “เวทนา” ก็สักแต่ว่าเวทนาไปเสีย นี่ความจริงที่เกิดขึ้นทางด้านปฏิบัติ ประจักษ์ใจ ที่เป็นความจริงเช่นนี้ และเป็นความจริงที่ฝังจิต ฝังใจ เชื่อแน่อย่างประทับใจ อะไรก็ “สักแต่ว่าอันนั้น” เท่านั้น ไม่เลยกว่านั้น จนกลายเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา ดังที่เคยสำคัญมั่นหมายมาแต่ก่อนนั่นเลย

แต่ละส่วนของธาตุ ของขันธ์ ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมา ด้วยสติปัญญา รูป ก็เป็นความจริง เพราะจิตรู้จริง เวทนา ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง เพราะจิตรู้จริง สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ละอย่าง ก็เป็นความจริงแต่ละอย่าง เพราะจิตเห็นความจริงอย่างเต็มตัว อาการแต่ละอย่างที่กระเพื่อมออกมาในทางจิตใจ ก็ทราบว่าเป็นความจริงแต่ละอย่าง ๆ ไม่หลงไม่ตื่นเงาตัวเอง เราอยู่ธรรมดา เรายังรู้ว่านั้นเป็นเงา นี้เป็นตัวของเรา แต่เงา ของจิตนั้นเราไม่ทราบ เราถือว่าเป็นตัวเสียทั้งนั้น จึงต้องวุ่นวาย อะไรที่เป็นอาการของจิตที่แสดงออก เราก็ถือว่าเป็นเราเสียทั้งหมด คือ เงาเป็นตน เงาหลอกว่าดี ก็ว่าเราดี เงาหลอกว่าชั่ว ก็ว่าเราชั่ว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงก็เชื่อไปตามเงา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปหมด เพราะความคิดปรุงหลอกหลอนตน

เพราะฉะนั้น การพิจารณาทางด้านปัญญา จึงต้องค้นให้ถึงความจริง ท่านจึงเรียกว่า “ปัญญา” ความฉลาดแหลมคม ถึงความจริงทุกสัดทุกส่วน แล้วมันก็แยกตัวกันเองอันไหนเป็นอะไร ก็ไม่ฝ่าฝืนความจริง ไม่ปีนเกลียวกับความจริง ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างอยู่ แน่ะ! จิตใจก็ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่หาเรื่องก่อกวนตนเอง นี่จะเรียกว่าอะไรล่ะ เมื่อถอดออกหมด ถอดออกหมด มันก็รู้ ที่ท่านเรียกว่า “รู้” รู้อย่างนี้เอง รู้เรื่องของตัวเองจิตก็หลุดพ้น เป็นอิสระเต็มภูมิ

ทีนี้เวลาจิตรู้เสียทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว จิตจะมีความอยากให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ไม่มี ความอยากนั้นเกิดขึ้นเพราะความไม่พอ ความไม่สมบูรณ์ ความบกพร่องจึงทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ทีนี้จิตมีความรู้เต็มตัว เต็มภูมิ ไม่มีความบกพร่องแล้ว ก็ไม่อยาก คือ ไม่อยากรู้อะไรอีกให้ยิ่งกว่านี้ เท่าที่เป็นอยู่นี้เป็นที่เหมาะสมแล้ว ไม่อยากสุขอะไรให้ยิ่งกว่านี้ ยิ่งกว่านี้ไป ไม่ใช่ฐานะของจิตที่ก้าวเข้าถึงความพอดีแล้ว

นี่ท่านเรียกว่า “มัชฌิมา ในหลักธรรมชาติ ที่เป็นส่วนผล” ซึ่งสืบเนื่องมาจาก “มัชฌิมา คือ ข้อปฏิบัติ” ดำเนินเข้าไปด้วย “มัชฌิมา อันเป็นศูนย์กลาง” พอเข้าถึง “มัชฌิมาในหลักธรรมชาติ” อันเป็นส่วนผลแล้ว ก็เป็นอันว่า “พอตัว” คือ ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่านั้น “เสมอ” จะเรียกว่า “เสมอ” ก็ไม่ถนัดใจ เรียกว่า “พอ” แล้วเหมาะ เพราะอิ่มเต็มที่แล้วยิ่งกว่านี้ไปไม่ได้ “พอ” นั่นแหละเหมาะ

ปฏิบัติด้วยธรรม รู้ด้วยธรรม ไม่ใช่เป็นไปด้วยกิเลส ย่อมถึง “เมืองพอ” ได้ ไม่เหมือนกับโลก ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ท่านถึง “เมืองพอ” ท่านพอแล้วพอดิบพอดีอยู่ตลอดกาล ว่า “นิพพานเที่ยง” จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึง “จิตที่พอตัวแล้ว เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด”

ธรรมชาติที่กล่าวถึงเวลานี้ได้แก่ “ความรู้” ตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก ขั้นมูลฐาน จนถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธ จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่ใช่ “ผู้รู้” ซึ่งได้ยินอยู่เวลานี้ ที่ทราบอยู่เวลานี้ ผู้นี้แหละผู้ที่เป็นสาระแก่นสารที่สุดในร่างกายของเรา ไม่มีอะไรเหนือไปกว่าผู้นี้

แต่เวลานี้ ผู้นี้ยังไม่สามารถตั้งตัวได้เต็มอรรถเต็มธรรมหรือเต็มภูมิของตัว จึงต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเกาะสิ่งนั้นเกาะสิ่งนี้พอพยุงตัว แต่มักถูกสิ่งทั้งหลายภายนอก ที่เป็นภัยต่อจิตใจ ผลักหกล้มลงไปก็มีเยอะ เพราะจิตยังไม่ฉลาด จึงผิดพลาดไปกับอารมณ์นั้นๆ ได้

ต้องพยุงด้วยอรรถด้วยธรรมจนเป็นตัวของตัวได้ แล้วเป็นตัวของตัวอย่างเต็มภูมิ คำว่า “เป็นตัวของตัวอย่างเต็มภูมิ” นี้ เราก็ให้ชื่อเอาเฉย ๆ ไม่ใช่เป็น “ตัวของตัว” ด้วยความสำคัญมั่นหมาย แต่เป็นธรรมชาติแท้ เราก็ให้ชื่ออย่างนั้นเอง เพราะโลกมีสมมุติก็ให้ชื่อไปตามสมมุติ เช่น ให้ชื่อว่า “นิพพาน” อย่างนี้

บรรดาท่านผู้ถึง “นิพพาน” แล้ว ท่านไม่ได้สงสัย ให้ชื่อให้นามหรือไม่ให้ ท่านก็ไม่มีปัญหา แต่โลกมีสมมุติก็ต้องให้ชื่อสมมุติไปตามโลก เช่น ปิดป้ายไว้ที่หน้าวัดว่า “วัดป่าบ้านตาด” เพื่อให้คนที่ยังไม่ทราบได้อ่านรู้ว่า “อ้อ นี่วัดป่าบ้านตาด” สำหรับพระเณรหรือประชาชนอยู่ในวัดนี้แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะต้องไปอ่านชื่อ “วัดป่าบ้านตาด” เพราะรู้อยู่แล้ว ผู้ที่รู้นิพพานก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

ระยะนี้แหละ ระยะที่เราว่าง เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับการบำเพ็ญตน เหมาะที่สุดในเวลาที่เป็นอยู่ สะดวกกายสบายใจ อะไรๆ เราก็ได้ผ่านมาแล้ว เวลานี้เป็นเวลาเหมาะสม ตายแล้วก็หมดค่า ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราเป็นอยู่อย่างนี้ เราทำได้ทุกอย่าง ทำเสียเวลานี้ ร่างกายกำลังเป็นเครื่องมือได้ดี จิตใจก็ทำหน้าที่ได้ดีด้วย ถ้าร่างกายที่เป็นเครื่องมือนี้สลายไปแล้วก็ต้องยุติ หรือเราจะสามารถพากันไปทำงานในเวลาตายแล้วได้ยังงั้นหรือ? สำหรับโลกมนุษย์นี้ ไม่มีคนตาย สัตว์ตายแล้วทำงานใดๆ ได้ ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ต้องสอนคนตายซิ ไม่ต้องประกาศสอนธรรมแก่โลกที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านสอน “คนเป็น” นี่ เห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดต่อหน้าที่การงานที่ชอบธรรมทั้งหลาย ท่านจึงสอนให้เหมาะสมที่สุดกับคนที่สมควรแก่การงาน คนตายแล้วท่านไม่สอน!

คิดดูเวลาท่านตรัสรู้แล้วนั่นน่ะ ทรงพิจารณาด้วยพระญาณ ก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองนั้นสิ้นไปเสียเมื่อวาน เมื่อทรงพิจารณาทราบแล้วก็ทรงรำพึงว่า “โอ น่าเสียดาย” นั่น! ท่านเลิกสนพระทัยที่จะไปสั่งสอน เพราะสุดวิสัยแล้ว ถ้าศาสนาเพื่อสอนคนตายจริงๆ ก็ต้องว่า “โอ้ เหมาะสมแล้วนี่ ดาบสทั้งสองตายไปเมื่อวานนี้ เราส่งผู้ตายนี้ให้ถึงนิพพานเสียเลย สะดวกมาก” แต่นี่ท่านไม่ไป และเสด็จไปหา “ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕” ผู้อยู่ในวิสัยที่จะได้จะถึงธรรมทั้งหลาย เมื่อเสด็จไปถึงพอทรงแสดง “เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ฯลฯ” เท่านั้น ปัญจวัคคีย์ทั้งหลายก็ได้บรรลุธรรมตามขึ้นมา มีพระอัญญาโกญฑัญญะ เป็นต้น เปล่งอุทานออกมาในขณะนั้นว่า “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ” นี้เป็นอุทานที่ออกมาจากความรู้จริงในขั้นเริ่มแรกแห่งธรรมที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้ว่า “สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นของตายตัว มีความเกิดและมีความดับไปเป็นของตายตัว คือ คู่กันอย่างนี้ แยกกันไม่ออก” นี่จิตหยั่งถึงความสุข จากนั้นก็ทรงแสดง “อนัตตลักขณสูตร” เป็นลำดับไป

อนัตตลักขณสูตร ท่านแสดงว่าอะไรบ้าง ก็ “รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง รูปัง อนัตตา” แน่ะ! ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน อยู่ในไตรลักษณ์นี้ทั้งหมดรวมลงอยู่ในนี้ “อนัตตา” แสดงว่าไม่ใช่ตน แสดงอย่างนี้ ล้างจิตใจให้สะอาดหมดจด ได้บรรลุธรรมทั้งห้าองค์ ด้วยอรหัตผลทั้งสิ้น

นี่ท่านสอนคนเป็น ไม่ได้สอนคนตาย! ที่เราอยู่ในวิสัยเวลานี้ เราไม่ใช่คนตาย เป็นผู้เหมาะสมอย่างยิ่งแล้วกับธรรมและการปฏิบัติธรรม ถ้าตายแล้วก็สุดวิสัย เวลานี้ยังไม่สุดวิสัย ให้พยายามทำเสียตั้งแต่บัดนี้ ช่วยตัวเองเสียแต่บัดนี้ เราจะไม่เสียท่าเสียที เรานี้เป็นผู้จะเสียท่าได้ท่า แล้วแต่จะพลิกแพลงใจไปในทางใดเพื่อตัวเอง ความฉลาดอยู่กับเรา ความโง่อยู่กับเรา เราต้องรู้จักคิดหาความฉลาด ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าออกมาจากความฉลาด ไม่ได้สอนให้คนโง่ จงรีบขวนขวายด้วยความเฉลียวฉลาดของตนเสียในเวลาอันสมควรนี้ จะไม่เสียท่าเสียที เราจะมีความสุขกายสบายใจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมบัติอันเป็นที่พึงใจจะเป็นของเรา ด้วยการทำความดี เป็นเหตุให้ได้สิ่งที่พึงพอใจสมมักสมหมาย จึงขอยุติการแสดง

วันที่ 19 มกราคม 2519 ความยาว 33.07 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

จงสร้างวาสนาที่ใจ


จงพยายามทำใจให้เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องยึด ทำอะไรต้องให้มีหลักเกณฑ์ ให้มีเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุมีผลก็หาความแน่นอนไม่ได้ การอยู่ด้วยความไม่แน่นอน ไปด้วยความไม่แน่นอน ทำอะไรด้วยความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อความผิดพลาดทั้งนั้น ผลแห่งความผิดพลาดก็คือความทุกข์ความผิดหวัง ต้องย้อนเข้ามาหาตัวเหตุคือผู้ทำอยู่เสมอ อย่ามองข้ามไป ใจมีความสำคัญที่จะสร้างความแน่นอนให้แก่ตัวเอง คนที่มีจิตเป็นหลักมีธรรมเป็นหลัก มีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่ว่าจะทำหน้าที่การงานอะไร ย่อมเป็นไปด้วยหลักด้วยเกณฑ์ด้วยเหตุด้วยผล เป็นความแน่ใจและแน่นอน

การอบรมจิตใจด้วยศีลด้วยธรรม ก็เพื่อให้ใจมีหลัก ใจนั้นมีอยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว แต่ชอบเอนเอียงไปตามสิ่งต่างๆ ไม่มีประมาณ อะไรมาผ่านก็เอนเอียงไปตาม ถูกอะไรพัดผันนิดๆ หน่อยๆ ก็เอนเอียงไปตาม นั่นคือจิตไม่มีหลักเกณฑ์ ตั้งตัวไม่ได้ ถูกฟัดถูกเหวี่ยงไปมาอยู่เสมอ ความเอนเอียงไปมาเพราะการถูกสัมผัสต่างๆ นั้น ยังมีผลสะท้อนกลับมาถึงตัวเราให้เดือดร้อนด้วย ฉะนั้นจึงต้องสร้างความแน่นอนให้แก่จิตใจ โดยทางเหตุผลอรรถธรรมเป็นเครื่องดำเนิน

ที่พึ่งพิงของใจก็คือ “ธรรม” ธรรมมีทั้งเหตุทั้งผล เหตุคือการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผล ที่เห็นว่าถูกต้องดีงามตามที่ท่านสอนไว้แล้ว อย่านำความยากความลำบากเข้ามาเป็นอุปสรรคกีดขวางทางเดินที่ถูกต้องดีงามโดยเหตุโดยผลของเรา เพื่อจะผลิตผลอันดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง

เราอย่าตำหนิตนว่า “อำนาจวาสนาน้อย” ซึ่งไม่เข้าท่าเข้าทาง และตัดกำลังใจให้ด้อยลง ทั้งเป็นลักษณะของคนอ่อนแอ ขี้บ่น อยู่ที่ไหนก็บ่น เห็นอะไรก็บ่น เกี่ยวข้องกับใครก็บ่น ทำหน้าที่การงานก็บ่นให้คน บ่นไม่หยุดไม่ถอย บ่นให้ลูกให้หลาน บ่นให้สามีภรรยา ส่วนมากมักเป็นผู้หญิงที่ช่างบ่น เพราะงานจุกจิกส่วนมากมารวมอยู่กับผู้หญิง จึงต้องขออภัยที่พูดเป็นลักษณะตำหนิ และเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงมากไป ทั้งที่ผู้ชายทั้งหลายยิ่งไม่เป็นท่าน่าเบื่อเสียจริงๆ ยิ่งกว่าผู้หญิงหลายเท่าตัว

การบ่นให้ตนเอง โดยไม่เสาะแสวงหาเครื่องส่งเสริมในสิ่งที่บกพร่องให้สมบูรณ์ขึ้นนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ใครไม่ได้หาบ “อำนาจวาสนา” มาออกร้านให้เห็นได้อย่างชัดเจน ดังเขาหาบสิ่งของต่างๆ ไปขายที่ตลาด

วาสนาบารมี” ก็มีอยู่ภายในใจด้วยกันทั้งนั้น หากไม่มีวาสนาแล้วไหนจะมาสนใจกับอรรถกับธรรม เบื้องต้นก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์ไม่เสียจริตจิตวิกลวิการต่างๆ ยังมีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นของเลิศประเสริฐ ไม่มีสิ่งใดประเสริฐยิ่งกว่าศาสนธรรม ซึ่งเป็นธรรมรื้อขนสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์โดยลำดับ ดังที่เคยกล่าวว่า “นิยยานิกธรรม” ผู้ปฏิบัติศาสนธรรม นำธรรมเหล่านี้ไปบำรุงซ่อมแซมจิตใจของตนที่เห็นว่าบกพร่อง ให้สมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ก็เท่ากับขนทุกข์ออกจากใจเรื่อยๆ ใจมีความบกพร่องที่ตรงไหน นั้นแลคือความอาภัพของจิตที่ตรงนั้น ความเป็นอยู่และการกระทำของจิตก็บกพร่องไปด้วย

ควรมองดูจิตนี้ให้มากยิ่งกว่าการมองสิ่งอื่นแบบลมๆ แล้งๆ และตำหนิ “อำนาจวาสนาของตน” ว่าน้อย คนอื่นเขาดีกันหมด แต่ตัวไม่ดี ทั้งๆ ที่ตัวก็ทำดีอยู่แต่ตำหนิว่าตัวไม่ดี เราไปทำความเสียหายอะไรถึงว่าไม่ดี การทำดีอยู่ จะไม่เรียกว่าดีจะเรียกอะไร? ความทำดีนั้นแลเป็นเครื่องรับรองผู้นั้นว่าดี ไม่ใช่การกระทำชั่วแล้วกลับเป็นเครื่องรับรองคนว่าดี นี้ไม่มีตามหลักธรรม นอกจากเสกสรรปั้นยอขึ้นมาด้วยอำนาจของกิเลสพาให้ชมเชยอย่างนั้น กิเลสชอบชมเชยในสิ่งที่ไม่ดีว่าเป็นของดี ตำหนิสิ่งที่ดีว่าเป็นของไม่ดี เพราะฉะนั้นกิเลสกับธรรมจึงเป็นข้าศึกกันเสมอ อันใดที่ธรรมชอบกิเลสไม่ชอบ ทั้งที่กิเลสก็อยู่กับใจ ธรรมก็อยู่กับใจของพวกเราเอง

ถ้ากิเลสมีมาก ก็คอยแต่จะตำหนิติเตียนธรรม เหยียบย่ำทำลายธรรมภายในจิตใจ การที่เราจะบำเพ็ญตนให้เป็นไปเพื่อความดีงาม ให้ได้มรรคได้ผลตามความมุ่งมาดปรารถนา จึงมีการคัดค้านตนอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือการตำหนิติเตียนตนว่า “มีอำนาจวาสนาน้อย” “เกิดมาอาภัพวาสนา ใครๆ เขารู้เขาเห็น ไอ้เราไม่รู้ไม่เห็นอะไร ใครๆ เขาเป็นใหญ่เป็นโตภายในใจ แต่เราเป็นเด็กเล็กๆ ตามพรรษา ก็เท่ากับเณรน้อยองค์หนึ่งภายในใจ” นี่คือการตำหนิติเตียนตัวเอง และเกิดความเดือดร้อนขึ้นมาด้วย ทำให้น้อยอกน้อยใจตัวเอง!

การน้อยใจนี้ ไม่ใช่จะทำให้เรามีความขยันหมั่นเพียร มีแก่จิตแก่ใจเพื่อบำเพ็ญตนให้มีระดับสูงขึ้นไป แต่เป็นการเหยียบย่ำทำลายตน ทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนใจ ซึ่งไม่ใช่ของดีเลย ทั้งนี้เป็นกลอุบายของกิเลสทั้งนั้น พร่ำสอนคนให้ด้อยวาสนาบารมีลงไป เพราะความไม่มีแก่ใจบำเพ็ญเพื่อส่งเสริม

พวกเราจงทราบไว้ว่า นี้คืออุบายของกิเลสหลอกคน มันบกพร่องที่ตรงไหน ให้พยายามแก้ไขดัดแปลงที่ตรงนั้น ซึ่งเป็นความถูกต้องกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแท้ไม่ผิด วาสนาบารมีจะต้องสมบูรณ์ขึ้นมาวันหนึ่งแน่นอนเมื่อได้รับการบำรุงอยู่เสมอ นี่คือทางที่ถูกต้อง ใครไม่ได้ไปที่ไหน ไม่ได้รู้ที่ไหน รู้ที่จิต วาสนาก็รวมอยู่ที่จิต

ร่างกายแตกสลายไปแล้ว อำนาจวาสนาที่สร้างไว้ในจิตนั้น ต้องติดแนบกับจิตไป จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่จะผ่านพ้นโลกที่สับสนวุ่นวายนี้ไป เรื่อง “อำนาจวาสนา” ซึ่งเป็นสมมุติและเป็นเครื่องสนับสนุนเราในเวลาที่ยังท่องเที่ยววกเวียนอยู่ใน “วัฏสงสาร” ก็ต้องผ่านไปหมด เมื่อถึงขั้นที่พ้นจากโลกสมมุติโดยประการทั้งปวงแล้ว จะตำหนิที่ตรงไหน มีทางตำหนิตนได้ที่ตรงไหน ต่อนี้ไปไม่มีเลย เพราะสมบูรณ์เต็มที่แล้ว

ฉะนั้นให้พยายามเร่งบำเพ็ญตนด้วยความพากเพียร อย่าไปคิดทางอื่นเรื่องอื่น นอกจากเรื่องของตัว ให้เสียเวลาและทำให้จิตท้อถอยอ่อนแอไปด้วย

การสร้างวาสนาให้สมบูรณ์ขึ้นมา ให้มีอำนาจวาสนามาก ก็สร้างที่ตัวเราเอง สร้างทีละเล็กละน้อย สร้างไม่หยุดไม่ถอยก็สมบูรณ์ไปเอง เช่นเดียวกับปลวกมันสร้าง “จอมปลวก” ได้ใหญ่โตขนาดไหน ขุดเป็นเดือนๆ ก็ไม่ราบ เมื่อจะขุดให้มันราบเหมือนที่ดินทั้งหลาย ฟันมันสองซี่เท่านั้นแหละ มันสามารถสร้างจอมปลวกได้เกือบเท่าภูเขา นี่แหละความพากเพียรของมัน เรามีความสามารถฉลาดในอุบายวิธีต่างๆ ยิ่งกว่าปลวก ฟันเราก็หลายซี่ กำลังของเราก็มากยิ่งกว่าปลวก ทำไมเราจะสร้างตัวเราให้มีความสูงเด่นขึ้นไม่ได้ ถ้าเรามีความเพียรเหมือนกับปลวกน่ะ! นอกจากไม่เพียรเท่านั้นจึงจะสู้มันไม่ได้ ต้องสร้างให้สูงได้ด้วยอำนาจแห่งความเพียร จะหนีความเพียรไปไม่พ้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยความเพียร เราทำไมจะกลายเป็นคนอาภัพไปจากความเพียร ทั้ง ๆ ที่กำลังและความฉลาดมีมากกว่าสัตว์ และทำได้มากกว่าสัตว์ ต้องเพียรได้เต็มภูมิมนุษย์เราไม่สงสัย ถ้าลงได้เพียรตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้แล้วไม่มีทางอื่น นอกจากจะทำให้ผู้นั้นมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นภายในใจ จนกลายเป็นจิตที่มีหลักฐานมั่นคงโดยถ่ายเดียว

เราเห็นได้ชัดๆ ในเวลาที่เราไม่เคยประพฤติปฏิบัติเลย เช่น ภาวนา “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” จิตไม่เคยรวมไม่เคยสงบให้เห็นปรากฏบ้างเลยแม้แต่น้อย เวลาเราฟังธรรมที่ท่านแสดงทางภาคการปฏิบัติ พูดถึงเรื่องสมาธิก็ได้ยินแต่ชื่อ ยังไม่รู้เรื่องรู้ราว ท่านแสดงถึงวิถีจิตที่ดำเนินไปด้วยความจริงว่า “เวลาภาวนาจิตที่มีสมาธิจะมีความสงบอย่างนั้น อาการของจิตเป็นอย่างนั้น ๆ ตามจริตนิสัยต่างๆ กัน สุดท้ายจิตได้ลงสู่ความสงบอย่างแนบแน่น มีความสุขความสบายอย่างนั้น ๆ” เราก็ไม่เข้าใจ พูดถึงเรื่องปัญญา การพิจารณาคลี่คลายดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ และพิจารณากระจายทั่วโลกธาตุ ซึ่งเป็นสภาวธรรมทั่วๆ ไป อันควรแก่ปัญญาซึ่งจะพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เราก็เพียงแต่เข้าใจในคำพูดเฉยๆ แต่ความหมายอันแท้จริงนั้นเรายังไม่ทราบ หรือบางทีอาจไม่เข้าใจเลยก็ได้

ทีนี้เมื่อเราได้รับการอบรมด้วยจิตตภาวนาอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตค่อยมีความสงบเย็นใจบ้าง อันเป็นผลเกิดขึ้นจากการภาวนา พอท่านแสดงธรรมถึงภาคปฏิบัติ จิตของเรากับกระแสแห่งธรรมจะเข้ากันได้ เริ่มเข้ากันได้เป็นลำดับๆ กระแสแห่งธรรมเลยกลายเป็นเหมือน “เพลง” ที่แม่กล่อมลูกให้หลับสนิท จิตใจของเรามีความสงบได้ด้วยกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดง

เมื่อสงบได้ ใจก็เย็นสบาย เห็นผลในขณะที่ฟังธรรม แล้วค่อยเห็นคุณค่าของการฟังธรรมเป็นลำดับๆ ไป และเห็นคุณค่าของการปฏิบัติโดยลำดับ จนกระทั่งจิตมีความสงบเย็นจริงๆ แทบทุกวันทุกครั้งที่ฟังเทศน์ภาคปฏิบัตินั้นแล จิตยิ่งมีความดูดดื่ม และซาบซึ้งขึ้นเป็นลำดับ เพียงขั้นนี้จิตก็ยอมรับและพอใจในการฟังธรรมทางภาคปฏิบัติ ยิ่งจิตมีความละเอียดมากเพียงไร สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ย่อมมีความละเอียดไปตามขั้น เช่น สมาธิมีความละเอียดขึ้นโดยลำดับ ผู้พิจารณาทางด้านปัญญาก็มีความละเอียดทางด้านปัญญาไปโดยลำดับเช่นกัน

การฟังธรรมที่ท่านแสดงทางภาคปฏิบัติ เช่น แสดงเรื่องสมาธิ และปัญญาขั้นใดก็ตาม จิตรู้สึกว่าคล้อยตามไปโดยลำดับ เคลิบเคลิ้มเพลิดเพลินอะไรพูดไม่ถูก ซึ้งจนลืมเวล่ำเวลา มีแต่ความรู้สึกกับธรรมที่สัมผัสกัน เกิดความเข้าใจทุกขณะๆ ที่ท่านแสดงไป ซึ่งเป็นการซักฟอกจิตใจไปในตัวและกล่อมจิตให้สงบเย็นไปด้วย

ถ้าจิตกำลังอยู่ในขั้นจะควรสงบ ธรรมก็กล่อมให้มีความสงบ จิตกำลังก้าวทางด้านปัญญา ก็เหมือนกับธรรมนั้นขัดเกลาซักฟอก บุกเบิกทางเดินให้จิตก้าวไปตามด้วยความสะดวก เวลาฟังเทศน์จึงเหมือนกับเอาน้ำที่สะอาดมาชะล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในจิตใจให้ผ่องใสขึ้นโดยลำดับ เห็นผลประจักษ์ในขณะฟัง จิตยิ่งมีความรักความชอบในการฟัง และมีความจดจ่อต่อเนื่องกันไปไม่ขาดวรรคขาดตอน กระทั่งฟังเทศน์จบลง จิตยังอยากได้ยินได้ฟังอยู่โดยสม่ำเสมอทุกวันเสียด้วย นอกจากนั้นยังอยากจะฟังคำอธิบายธรรมในแง่ต่างๆ ไปตามโอกาสที่ท่านว่างอีกด้วย

กรุณาคิดดูจิตดวงเดียวนี่แหละ ขนาดที่ฟังไม่รู้เรื่องก็มี นี่เคยเป็นมาแล้ว จึงขอเรียนเรื่องความโง่ของตนให้ท่านทั้งหลายฟัง ขณะที่ไปหาท่านอาจารย์มั่นทีแรก ได้ฟังท่านเทศน์เรื่องสมาธิเรื่องปัญญา ไม่ว่าขั้นไหนไม่รู้เรื่องเลย เหมือนกับร้องเพลงให้ควายฟังนั่นแล แต่ดีอย่างหนึ่งที่ไม่เคยตำหนิติเตียนท่านว่า ท่านเทศน์ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่ย้อนกลับมาตำหนิเจ้าของว่า “นี่เห็นไหม ท่านอาจารย์มั่นชื่อเสียงท่านโด่งดัง กิตติศัพท์กิตติคุณท่านลือกระฉ่อนไปทั่วโลกมาเป็นเวลานานตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก เรามีความพอใจที่จะได้พบได้เห็นได้ฟังโอวาทของท่าน ทีนี้เราได้มาฟังแล้วไม่เข้าใจ เราอย่าเข้าใจว่าเราฉลาดเลย นี่เราโง่แค่ไหน รู้หรือยังทีนี้!

เราเคยฟังเทศน์ทางด้านปริยัติ ฟังจนกระทั่งเทศน์ของสมเด็จ เราเข้าใจไปหมด แต่เวลามาฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นองค์ประเสริฐทั้งภาคปฏิบัติและจิตใจ แต่ไม่เข้าใจ เราเชื่อแล้วว่าท่านเป็นพระประเสริฐที่ปรากฏชื่อเสียงมานานถึงขนาดนั้น เรายังไม่เข้าใจ นี่เห็นแล้วหรือยัง ความโง่ของเรา! เราหาบ “ความโง่” เต็มตัวมาหาท่าน ความฉลาดนิดหนึ่งไม่มี จึงไม่สามารถเข้าใจอรรถธรรมของท่านที่แสดงอย่างลึกซึ้ง ดังที่พระทั้งหลายซึ่งอยู่กับท่านมานานแล้วเล่าให้ฟังว่า “แหม! วันนี้ท่านแสดงธรรมลึกซึ้งมาก ฟังแล้วซาบซึ้งบอกไม่ถูก!” ดังนี้ แต่เรามันลึกซึ้งที่ไหน มันไม่ซึ้งจึงไม่เข้าใจ นี่เราโง่ไหม? ทราบหรือยังว่าตัวโง่ อันเป็นคำตำหนิเจ้าของ ดีอย่างหนึ่งที่ไม่ไปตำหนิท่าน แล้วกอบโกยเอาบาปกรรมเข้ามาทับเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ก็หนักอยู่แล้ว

ครั้นฟังท่านไปนานๆ เราก็ปฏิบัติไปทุกวี่ทุกวันทุกเวลา ฟังเทศน์ท่านค่อยเข้าใจ จิตค่อยได้รับความสงบเย็นเข้าไป ๆ เป็นลำดับ ทีนี้รู้สึกว่าเริ่มค่อยซึ้ง เพราะฟังธรรมเทศนาของท่านก็เข้าใจ พูดถึงเรื่องสมาธิแล้ว “แจ๋ว” ภายในจิตใจ จากนั้นก็เริ่มเข้าใจโดยลำดับๆ ซาบซึ้งโดยลำดับๆ เลยกลายเป็น “คนหูสูง” ไป! สูงยังไง? คือนอกจากท่านแล้วไม่อยากฟังเทศน์ของใครเลย เพราะเทศน์ไม่ถูกจุดที่ต้องการ เทศน์ไม่ถูกจุดของกิเลสที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่ นั่น! เทศน์ไม่ถูกจุดของสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมแก้กิเลส เทศน์ไม่ถูกจุดแห่งมรรคผลนิพพาน นั่น! เพราะความซึ้งความเชื่อ เหตุที่จะเชื่อจะซึ้ง ก็เพราะเห็นเหตุเห็นผลปรากฏภายในใจของตนในขณะที่ฟังโดยลำดับ ๆ นั้นแล

นี่แหละจิตดวงเดียวนี้ เวลาหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง มาเวลาหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ก็เพราะเบื้องต้นสิ่งที่เกี่ยวข้องหุ้มห่อจิตมันมีแต่สิ่งดำๆ ทั้งนั้น สกปรกทั้งนั้น ธรรมที่สะอาดเข้าไปไม่ถึง เพราะความสกปรกของจิตมีมาก เทน้ำลงขนาดครุหนึ่ง ยังไม่ปรากฏว่าความสกปรกนั้นจะหลุดลอยออกบ้างเลย ต้องเทลง ๆ ชะล้างขัดถูกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถไม่หยุดไม่ถอย จึงค่อยสะอาดขึ้นมา ๆ

นี่แหละธรรมที่ท่านแสดง เหมือนกับเทน้ำล้างสิ่งสกปรกภายในจิตใจเรา ซึ่งมันไม่ยอมเข้าใจอรรถธรรมอะไรง่ายๆ ทั้งๆ ที่เป็นธรรมอันประเสริฐ แต่จิตมันไม่ประเสริฐ จิตมันยังสกปรก จิตมันยังเป็นของไม่มีคุณค่า ธรรมแม้จะมีคุณค่า ใจก็ไม่ยอมรับ เพราะสิ่งที่ต่ำกับสิ่งที่สูงมันเข้ากันไม่ได้ ขณะที่มันโง่มันจะเอาความฉลาดมาจากไหน ขณะที่มันเศร้าหมองมันดำ มันจะเอาความแจ้งขาวมาจากไหน ต้องอาศัยการชะล้างเรื่อยๆ มันก็ค่อยสะอาดขึ้นมา ๆ ใจปรากฏเป็นของมีคุณค่าขึ้นมา อะไรๆ เมื่อจิตเริ่มมีคุณค่าเสียอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็ค่อยมีคุณค่าขึ้นมาโดยลำดับ แม้ที่สุดได้ยินเขาร้องไห้ เขาด่ากัน ทะเลาะกันเถียงกัน ก็ยังนำเข้ามาเป็นอรรถเป็นธรรมได้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นได้จากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้น ๆ

นี่แหละความเปลี่ยนแปลงของจิต เปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ จากการประพฤติปฏิบัติ จากการอบรมตนอยู่โดยสม่ำเสมอ นี่คือการสร้าง “วาสนา” สร้างอย่างนี้

การตำหนิตัวเองไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้เกิดความอับเฉาน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เราตั้งใจจะมาสลัดตัดกิเลสออกจากจิตใจ แต่กลับมาเอากิเลสเข้าสู่จิตใจ ด้วยอาการต่างๆ อย่างที่กล่าวมานี้ จึงไม่สมเหตุสมผลที่เราต้องการ ที่เรามุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อส่งเสริมตนนั้นเลย

วาสนามีอยู่กับใจ สร้างตรงนี้แหละ ตรงที่พูดถึงนี่แหละ พยายามสร้างพยายามขัดเกลาลงไป กิเลสมีหลายชนิด ที่ดื้อก็มี โดยมากมันดื้อทั้งนั้นแหละกิเลสน่ะ ถ้ามีกำลังมากก็ดื้อมาก มีกำลังน้อยก็ดื้อน้อย แล้วแต่กิเลสมีมากน้อย ของไม่ดีมีมากเท่าไรมันยิ่งแสดงความไม่ดีให้เห็นมาก นั่นแหละเราต้องสู้ตรงที่มันไม่ดี เพื่อเอาของดีขึ้นมาครองภายในใจ

เรื่องความขยันหมั่นเพียร ความอดความทน การเจริญเมตตาภาวนาทุกด้าน ก็เพื่อแก้สิ่งที่มันดื้อด้านภายในจิตใจเรานั่นแล มันคอยทำลายเราด้วยวิธีต่างๆ ทั้งๆ ที่เราเข้าใจว่าเรามาบำเพ็ญความดี แต่มันก็ติดมาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมีโอกาสเมื่อไรมันต้องทำลายเราจนได้ จึงไม่น่าไว้ใจและไม่ควรนอนใจ

เพราะกิเลสมันแทรกอยู่ในใจนั้น เรามาอยู่ป่ามันก็มาด้วย เพราะมันอยู่ที่จิต เราอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ด้วย เราว่าเราไปเรียนธรรมไปบำเพ็ญธรรม กิเลสมันไม่เป็นผู้บำเพ็ญธรรม แต่มันติดแนบไปด้วยกับผู้บำเพ็ญธรรม และไปเป็นข้าศึกต่อผู้บำเพ็ญธรรม แต่ผู้นั้นก็ไม่ทราบว่า กิเลสมันมาทำลายตัวตั้งแต่เมื่อไร เราเลยถือความคิดที่ทำลายตนเองนั้นว่าเป็นของเราเอง เลยติดปัญหาตัวเองในข้อนี้ โดยไม่เข้าใจว่าเป็นปัญหาติดกิเลสตัวเอง ตนเองถูกทำลายก็ยังไม่เข้าใจว่าถูกทำลาย นั่น! เรื่องกิเลสมันสลับซับซ้อนหลายสันพันคมอย่างนี้แล

การปฏิบัติธรรมต้องใช้สติปัญญา ที่จะทราบความดีความชั่ว ความผิดความถูก อันใดเป็นกิเลส อันใดเป็นธรรม ซึ่งมีอยู่ภายในจิตของเราเอง ความมีวาสนาน่ะ มีทุกคน อยู่ที่ใจนี่ ใครจะไปแข่งกันไม่ได้ ท่านห้ามไม่ให้แข่งอำนาจวาสนากัน แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ให้ไปดูถูกเหยียดหยามเขาว่าเขาเป็นสัตว์ เพราะการท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” เปรียบเหมือนกับเราเดินทาง ย่อมมีสูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ขรุขระบ้าง สะดวกบ้าง เป็นธรรมดาอย่างนั้นตลอดไป ในขณะที่เขาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็คืออยู่ในสถานที่ลุ่มๆ ดอนๆ หรือขรุขระลำบากลำบน แต่ผู้เดินทางก็คือจิต

พระมหากษัตริย์ที่เรายกย่องว่าท่านเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง หรือเป็นพ่อบ้านพ่อเมือง เวลารถที่ท่านเสด็จไปตามถนนหนทางลงไปที่ต่ำ พระมหากษัตริย์ก็ต้องลงไปที่ลุ่มๆ ดอนๆ ก็ต้องไปตามสายทางที่พาให้ไป ขึ้นที่สูงก็ขึ้น ลงที่ต่ำก็ลง แต่พระมหากษัตริย์องค์นั้นแหละลงต่ำ ก็พระมหากษัตริย์ขึ้นสูง ก็พระมหากษัตริย์องค์เก่านั้นแหละ

นี่จิตเวลามันขรุขระ ก็คือจิตดวงนั้นแหละ มีวาสนาอยู่ภายในตัว แต่ถึงคราวลำบากก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา เพราะโลกนี้มันมีทั้งดีทั้งชั่วสับปนกันอยู่ เมื่อโลกนี้มีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันอยู่ จิตใจของเรามีทั้งดีทั้งชั่ว จะไม่ให้มันแสดงตัวได้อย่างไร มันต้องแสดง

ถ้าเราเป็นนักประพฤติปฏิบัติเพื่อรู้เพื่อเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่กับตัวนั้น ว่าสิ่งไหนควรแก้ สิ่งไหนควรถอดถอน สิ่งไหนควรบำเพ็ญ เราก็ควรจะยินดีตามความจริงที่แสดงขึ้นมาให้เราได้แก้ไข ให้เราได้ส่งเสริม นี่ชื่อว่า “นักธรรมะ” กล้าเผชิญหน้ากับทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งหาที่เผชิญไม่ได้ หมดภัยหมดเวรทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ไม่ทราบว่าจะต่อสู้กับอะไรอีก

เวลาที่ยังมีข้าศึกอยู่ก็ต้องสู้ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายนั้นแลคือข้าศึกต่อตัวเรา เวลานี้เรามารบกับกิเลส กิเลสมีอยู่ในตัวเรา เราอย่าหลงมายาของกิเลสที่หลอกเรา จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้แสวงหาความฉลาดเพื่อแก้กิเลส อย่าให้กิเลสมาหาอุบายมัดตัวเรา ถูกมัดดีหรือ เราเห็นไหมคนอยู่ในห้องขังดีหรือ ถูกข้อหายังดีมีทางแก้ ถูกเข้าห้องขังนั่นซิหมดท่า!

กิเลสกับเรามันต่อสู้กันเหมือนผู้ต้องหาเวลานี้ ใจน่ะเหมือนผู้ต้องหา กิเลสก็มี ธรรมก็มี ทางหนึ่งทางช่วย ทางหนึ่งทางย่ำยี ทางไหนที่มีกำลังมากกว่าทางนั้นก็ชนะ แต่เวลานี้เราจะเอาทางไหนเป็นทางชนะ ทางไหนเป็นทางแพ้ กิเลสกับธรรมอยู่ในใจดวงเดียวกัน เราจะพยายามต่อสู้เพื่อชิงชัย ได้หลักเกณฑ์ขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ใจก็มีหลัก เริ่มเชื่อถือได้ มีหลักด้วยธรรม ถ้าใจมีหลักด้วยธรรมใจก็เย็น อยู่ที่ไหนก็เย็นสบาย นี้คือการสร้างบารมีสร้างอย่างนี้

สติปัญญามีเท่าไร เอ้า ขุดค้นขึ้นมาแก้กิเลสจนกิเลสยอม ขึ้นชื่อว่าสติปัญญาแล้วกิเลสต้องยอม อย่างอื่นมันไม่ยอม จงขุดค้นขึ้นมาพิจารณา ใจเรามันมีเรื่องอยู่ตลอดเวลาถ้าจะพิจารณาดูเรื่อง ไม่ใช่เรื่องอะไรดอก เรื่องกิเลสแทบทั้งนั้นเต็มหัวใจ

ถ้าเราสร้างสติปัญญาขึ้นมา จะได้มองเห็นเรื่องของกิเลสที่แสดงตัวเป็นข้าศึกต่อเรา อยู่มากน้อยเพียงไร ตลอดกาลมา เราจะได้พยายามแก้ไข พยายามต่อสู้จนได้ชัยชนะเป็นลำดับๆ จนรู้แถวทางของกิเลสที่มันออกในแง่ใดบ้าง พอจะทราบ พอจะดักต่อสู้และทำลายกันได้ พอจะมีวันแพ้บ้างชนะบ้าง ตลอดถึงชนะไปเรื่อยๆ และชนะไปเลยได้ด้วยอำนาจของสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร

อย่าลดละท้อถอย อย่าให้ขาดทุนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้อัตภาพร่างกายนี้ ก่อนที่เขาจะแตกดับไป อย่าให้แตกสลายทิ้งไปเปล่า อย่างต้นไม้ที่ล้มทิ้งเกลื่อนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย ก็เสียทรัพยากรของชาติไปเปล่าๆ นี่ก็เป็นทรัพยากรอันหนึ่งภายในใจเรา ได้แก่ร่างกาย พยายามนำสิ่งนี้มาบำเพ็ญประโยชน์ มีเท่านี้ที่เราจะได้ประโยชน์จากร่างกายอันนี้ ทำเสียตั้งแต่บัดนี้ เวลาถูกมัดแล้วไม่มีทางทำได้ เหมือนกับนักโทษ ถ้าเขาได้ตัดสินแล้วเท่านั้นแหละ ใครจะไปคัดค้านหรือฉุดลากตัวออกมาก็ไม่ได้ ต้องเป็นนักโทษนอนจมปลักอยู่ในตะรางนั่นเอง จนกว่าจะพ้นโทษจึงจะได้รับการปลดปล่อยออกมาเป็นอิสระ

เวลานี้จิตของเราก็เหมือนกัน กำลังเป็นผู้ต้องหา เอ้า ต่อสู้ หาทนายขึ้นมาพร้อมกัน ด้วยสติปัญญาอุบายวิธีการต่างๆ มีความเพียรสนับสนุน สู้กันจนถึงที่สุด เพราะศาลนี้เป็นศาลสำคัญมาก ศาลต้นก็อยู่ที่นี่ ศาลอุทธรณ์ก็อยู่ที่นี่ ศาลฎีกาก็อยู่ที่นี่

ศาลต้นคืออะไร คือสู้กิเลสอย่างหยาบๆ สู้ที่นี่ไม่ได้ เอ้า ขึ้นอีกศาลหนึ่ง สติปัญญามีหาอุบายใช้ใหม่เอาจนชนะ ขึ้นถึงศาลสูงสุด ตัดสินกันเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง กิเลสอย่างหยาบแก้ด้วยปัญญาอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลางแก้ด้วยปัญญาอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียดและละเอียดสุด แก้ด้วยปัญญาอันสูงสุด ได้แก่สติปัญญาอันเก่งกล้าสามารถที่ท่านเรียกว่า “มหาสติ มหาปัญญา”

เมื่อถึงศาลฎีกาแล้ว ตัดสินกันขาดสะบั้นไปเลยไม่มีอะไรเหลือ ไม่ต้องไปศาลไหนอีก อยู่อย่างสบาย นี่โรงศาลใหญ่เราเห็นไหม?

อัตภาพร่างกายของเรา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเครื่องค้ำประกันเราให้เป็นมนุษย์ขึ้นมา ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องค้ำประกันเราให้เป็นมนุษย์ เป็นศาลสถิตยุติธรรมอยู่ที่ตรงนี้ ว่ากันโดยอรรถโดยธรรม ว่ากันโดยเหตุโดยผล พิจารณากันโดยเหตุโดยผล ไม่ต้องย่อท้อต่อกิเลสตัวใด ไม่ต้องตำหนิติเตียนตนว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันเป็นการเข้ากับฝ่ายกิเลสให้มันได้ใจ แล้วเอาชนะเราไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว ผลที่เราทำได้ก็คือ ความเสียอกเสียใจ ความทุกข์ ความลำบาก ทรมานใจ นั่นคือเราแพ้!

จงขุดค้นขึ้นมาพิจารณา คดีมันมีมูลอยู่แล้ว กิเลสมันมีเหตุมีผลของมันมันจึงเกิดขึ้น นี่เรียกว่า “คดีมีมูล” ปัญญา ก็มีเหตุมีผลที่ควรแก้กิเลสได้อยู่แล้ว ให้พิจารณาลงไปที่กิเลสมันหลอกเราว่า ร่างกายนี้เป็นของเราน่ะ “ร่างกายทั้งหมดนี้น่ะ หนังก็เป็นเรา เนื้อก็เป็นเรา กระดูกก็เป็นเรา ผม ขน เล็บ อะไรเป็นเราทั้งนั้น เป็นเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว” เรายอมแพ้มันตลอด ไม่ว่าศาลไหน ภพใด แพ้มันมาเรื่อยๆ

คราวนี้เราสู้ในอัตภาพนี้ เรียกว่าศาลต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็ว่ากันไปตรงนี้ เอ้า แต่งทนายขึ้นมา สติ ปัญญา ขุดค้นขึ้นมา นั่นแหละคือทนายอันสำคัญๆ ผู้จะตัดสินจริงๆ คือผู้พิพากษา ได้แก่ “ปัญญาอันเฉียบแหลม” ค้นลงไปให้เห็นชัดจริงๆ

ไหน คนจริงๆ อยู่ที่ไหน? อัตภาพร่างกายนี้หรือเป็นเรา เราจริงๆ หรือ ถ้าอัตภาพร่างกายนี้แตกลงไปแล้ว เราจะไม่หมดความหมายไปหรือ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรานั่นเอง แม้มันจะแตกสลายลงไป เราจึงไม่หมดความหมาย เราจึงยังคือเราอยู่โดยดี เพราะเราแท้ไม่ใช่ร่างกาย”

ความหมายว่า “เรา” นั้นไม่ได้อยู่กับร่างกาย เรานั้นอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้อย่าไปหลง อย่าไปกอบโกยเอาทุกข์ขึ้นมา ทุกข์อยู่ภายในจิต เพราะการยึดถือก็มากพอแล้ว ยังจะไปหลงแบกหามอะไรไปอีก มันก็ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีก อะไรๆ ก็เป็นเรา เป็นของเราไปเสียหมด กอบโกยเข้ามาเป็นกองทุกข์ นี่แหละคือแพ้กิเลส ตลอดวัน ตลอดภพ ตลอดชาติ จงค้นคว้าลงไปให้เห็นตามความจริงของมัน

ดูหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ทุกสิ่งทุกส่วน อันไหนเป็นเราจริงๆ ? ค้นลงไปด้วยปัญญาให้เห็นชัด ดูลักษณะของมันสีสันวรรณะ ดูให้ชัดเจนว่ามันเป็นเราจริงหรือ ความรู้อันนี้กับธรรมชาติที่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นลักษณะสีนั้นสีนี้ มันเข้ากันได้หรือ? ถ้าหากเป็น “เรา” จริงๆ ความรู้กับสิ่งเหล่านั้นต้องเป็นสภาพอันเดียวกัน แต่นี่สภาพมันก็ไม่เหมือนกัน ความรู้รู้อยู่ มีเท่านั้น มันไม่มีสีสันวรรณะ แต่ร่างกายนั้นมีทุกสิ่งทุกอย่าง มีทั้งกลิ่นทั้งอะไรเต็มไปหมด เมื่อร่างกายมันแตก เอ้า ถ้าหากเราถือว่าร่างกายนี้เป็นเรา เมื่อร่างกายแตกเราก็หมดความหมาย ฉิบหายวายปวงไปด้วยไม่มีอะไรเหลือ เราจะเอาอะไรไปต่อภพต่อชาติมีอำนาจวาสนาต่อไปข้างหน้าล่ะ เพราะร่างกายมันจบไปแล้ว

ที่ว่าเรานั่นน่ะ จงพิจารณาแยกให้เห็นชัดเจน ถ้าเราไม่ถือ “ร่างกาย” ว่าเป็น “เรา” เอ้า ร่างกายจะแตกก็แตกไป ตัวเรายังมีอยู่ นี้แลคือตัววาสนา เวทนา ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้น ดับไป เอ้า ดับไป นั่นไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เห็นชัดเจน นี่แหละคือ “ไตรลักษณ์”

ที่จะก้าวเข้าสู่ “ชัยสมรภูมิ” ก็คือพิจารณาให้เห็นตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้โดยถูกต้อง “รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา” แน่ะ! ฟังซิ ประกาศกังวานอยู่ทั่วโลกธาตุ เฉพาะอย่างยิ่งทั่วสกลกายของเรา ทั่วขันธ์ ๕ ไม่ว่าขันธ์ใดที่จะปฏิเสธ “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” นี้ไม่มีเลย เต็มไปด้วย “ไตรลักษณ์” ประกาศอยู่ เหมือนกับว่า “อย่าเอื้อมมานะมือน่ะ ตีข้อมือนะ!” ไม่อายหรือไปยึดเขาว่าเป็นเราเป็นของเราน่ะ เขาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เขา ต่างอันต่างจริง นี่ท่านผู้รู้สอนไว้ ท่านผู้รู้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ละได้แล้ว เห็นความสุขอันสมบูรณ์แล้ว ด้วยการละการถอนด้วยสติปัญญาประเภทนี้

จงพิจารณาตามนี้ อย่าฝืนหลักธรรมของพระพุทธเจ้า อย่าไปยอมตัวเป็นลูกน้องของกิเลสว่า “นั้นเป็นเรา นี้เป็นของเรา” นั่นคือเรื่องของกิเลสที่พาเราให้จมอยู่ตลอดมาไม่เข็ดไม่หลาบบ้างหรือ ? “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ท่านว่าที่ไหน ถ้าไม่ว่าที่ขันธ์ ๕ “รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา เวทนา อนิจฺจา เวทนา อนตฺตา สญฺญา อนิจฺจา สญฺญา อนตฺตา สงฺขารา อนิจฺจา สงฺขารา อนตฺตา วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญฺญาณํ อนตฺตา” นั่น! ฟังซิ คำว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” เมื่อถึงขั้นเต็มที่ที่จะปล่อยวางโดยประการทั้งปวงแล้ว ขึ้นชื่อว่า “สมมุติ” ทั้งปวง ไม่ว่าดีไม่ว่าชั่ว เป็น อนตฺตา ทั้งสิ้น นั่น! ท่านว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงขึ้นชื่อว่าสมมุติ ไม่ว่าภายนอกภายในเป็น อนตฺตา ทั้งสิ้น ไม่ควรไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา”

สุดท้ายท่านว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น นี่ถึงขั้นที่ควรปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางโดยประการทั้งปวงไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่เลย จิตจะได้พ้นจากความกดถ่วงทั้งหลาย เป็น “อิสรจิต” อิสรเสรี นั่นแลคือกองมหาสมบัติ นั้นแลคือหลักใจที่เลิศประเสริฐสุดในโลก

การสร้างจิตใจ สร้างหลักใจ สร้างด้วยอรรถด้วยธรรม สร้างด้วยความรู้ความฉลาด สร้างด้วยความพากเพียร สร้างด้วยความอุตส่าห์พยายาม สร้างด้วยความเป็น “นักต่อสู้” !

เราไม่ต้องกลัวตาย ป่าช้ามีอยู่ทุกคนจะกลัวตายไปทำไม กลัวก็ไม่พ้น ความตายเป็นคติธรรมดา เราต้องรู้ ผู้รู้ความตายมีอยู่ ไม่ใช่จะฉิบหายจะตายไปด้วยความตายนั้นเมื่อไร ความรู้เป็นความรู้ ไม่ตาย เราอย่าไปกลัวตาย อันใดที่ปรากฏขึ้นมา พิจารณาให้เห็นชัดตามความจริงของความรู้ที่มีอยู่ สติปัญญาที่มีอยู่ไม่ถอยหลัง ผู้นั้นแลผู้จะปลดเปลื้องถึงความอิสรเสรีได้ เพราะความไม่ท้อถอยที่จะพิจารณาด้วยปัญญา

นี่เมื่อสร้างให้เต็มที่แล้ว เราจะไปหาวาสนาจากไหนอีก เมื่อเต็มแล้วก็เต็มอย่างนี้เอง! ไม่ได้ตั้งร้านขายกันเหมือนกับสิ่งของทั้งหลาย มีอยู่ภายในใจเป็นมหาสมบัติอยู่นี่ จ่ายไปเท่าใดก็ไม่หมด

อย่างพระพุทธเจ้า นั่นท่านสั่งสอนโลกสั่งสอนเท่าไร ตั้งสามโลกก็ไม่หมด ธรรมของพระพุทธเจ้าออกมาจากมหาสมบัติ คือธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของพระองค์ นั่นแล

วาระนี้เราพยายามสั่งสอนเรา เอาให้เต็มภูมิ ปลดเปลื้องกันให้เต็มภูมิ ขั้นศาลฎีกาตัดสินกันให้ราบลงไป อย่าให้มีอะไรมาค้านได้อีกเลย กิเลสเอาให้เรียบวุธ ถึงขั้นอิสรเสรีแล้ว พอ ! นั่นแหละ “เมืองพอ” ! เราจะไปหาในโลก หาที่ไหนเมืองพอก็ไม่มี ได้เท่านี้อยากได้เท่านั้น ได้เท่านั้นอยากได้อีกเท่าโน้น อยากได้ตะพึดตะพือเหมือนกับไฟได้เชื้อ เราเคยเห็นว่า ไฟมันพอเชื้อ มีที่ไหน? เอาเชื้อใส่ลงไปซิ ไฟจะแสดงเปลวขึ้นมาท่วมเมฆ ท่านว่า “ไฟ ไม่ได้ดับเพราะการเพิ่มเชื้อ” กิเลสไม่ได้ดับเพราะการกระทำตามความอยาก ได้เท่าไรก็ไม่พอ อยากนั้นอยากนี้ จนกระทั่งวันตายยังไม่พอ นั่นขึ้นชื่อว่า “กิเลส” แล้วไม่มีเมืองพอ

ความเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วนั้น คือ เมืองพอ” อยู่ที่ไหนก็พอ ความพอคือความสบายจริง ความบกพร่องความหิวโหยคือการรบกวนตัวเอง อย่างเราหิวข้าวเป็นอย่างไร สบายหรือ หิวหลับหิวนอน สบายหรือ นั่น! เป็นความรบกวนทั้งนั้น ไม่มีอะไรรบกวนนั้นแสนสบาย นี่แหละเมืองพอ

สร้างจิตให้พอตัว ชื่อว่า “เมืองพอ” พออยู่ที่จิต วาสนา พออยู่ที่จิต เต็มสมบูรณ์อยู่ที่จิต ไม่อยู่ที่อื่น ให้สร้างที่ตรงนี้ นี่แลเป็น “วาสนา” แท้ อยู่ที่ใจของเรา

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าพอสมควร

จงสร้างวาสนาที่ใจ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 36.13 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

Asanha Bucha


Asanha Bucha Day is considered an important day of Buddhism.  Because important events that occurred 45 years before the Buddhist Era on the 15th day of the 8th lunar month is Asanha Bucha.  [2] At the Ipsuk Maruekhathayawan Forest in the Varanasi region, Khasi Dharma, Bharatavana Sutthipa to Bhagavati. [3]

The Dharma that made Brahman Konyanya 1 in Panjawakhi consists of Dhonya Wappa Phatthiya Mahanama and Asschi dedicated to the teachings of the Lord Buddha until the eyes see the Dhamma or achieve the sacred level. Therefore, he asked to ordain in the teachings of the Lord Buddha in the Hikha Bhikkhuvadhamma Ananya Konthaya method.  Was the first student and monk in the world  And made that day the top three complete gems in the world, including Buddha images, Dharma and monks  For this reason, today is called “Dharma Day” or Dharma Church Day.  Which is the day when the wheel of the teachings of the Lord Buddha first spins and  “Monk’s Day” is the day that monks first occurred and is considered a “Triple Gem”.

Previously, there was no practice in the 8th month or Asanha Bucha Day in Theravada Buddhist countries until the year 1958, the 8th Asanha Bucha Day began in Thailand.  As the Supreme Council has determined that today is an important Buddhist day in Thailand officially in the year.  Prof. 1958, the Supreme Council has approved the increase of Asanha Bucha Day as an important Buddhist day in Thailand.  According to the instructions of Dhammakosajarn  (Like Anucha) [4], which was announced by the Synod on 14 July 1958. [5] Asanha Bucha Day is an important Buddhist day along with the Asanha Bucha ceremony, officially established for the first time in Thailand.  With a ritual equivalent to Visakha Puja Day, which is an important day in universal Buddhism

However, Asanha Bucha Day is considered to be an important day for public holidays in Thailand only. In other countries, Theravada Buddhists do not give as much importance to Asan Bucha Day as Visakha Bucha Day.

Forgive me


Any karma, whether the body, the judges, the related thoughts that I have deliberately offended both of them have no good intentions.  No matter what life I ask, all nightmares forgive me for forgiveness.  Do not reserve fate anymore, even any karma that anyone does to me. I forgive everyone.  Offering the Lord Buddha is forgiveness, inspiring them to be compassionate, compassionate, friendly, and friendly to me, so that they do not have to meet each other’s destiny forever.  Family members suffering, misery, misery, parody, suffering, do not approach illness, have a good day  Happy, triumphant, hurt, and dangerous. Disappear. Think of the thoughts of anything that is legally composed. Wish that things will succeed.  Thousands of people will succeed.  Thousands of people will succeed …

Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้